ในปัจจุบัน การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญ ประเทศไทยที่มีการเจริญเติบโตอย่างมาก มีการจัดการระบบมากขึ้น เกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหรรมขนาดใหญ่ การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ

การท่องเที่ยว คือ การพักผ่อนหย่อนใจเพื่อให้ผ่อนคลาย สนุกสนาน หรือเพื่อหาความรู้ ซึ่งแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดมหาสารคาม ที่สำคัญ ๆ เช่น

3 สถานที่ ท่องเที่ยว ในจังหวัดมหาสารคาม

ท่องเที่ยวมหาสารคาม

วัดป่าวังน้ำเย็น  เป็นวัดที่สวยงามขนาดใหญ่บนพื้นที่กว้างขวางกว่า 30 ไร่ ที่ ต.เกิ้ง อ.เมือง จ.มหาสารคาม สร้างขึ้นโดย พระอาจารย์สุริยันต์ โฆสปัญโญ ผู้เป็นลูกศิษย์ของ หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ พระภิกษุผู้เป็นที่เคารพรักของชาวอีสาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 จนกระทั่งได้รับการยกฐานะเป็นวัดอย่างถูกต้องเมื่อปี พ.ศ. 2555 ตั้งอยู่ที่ อยู่ที่ ต.เกิ้ง อ.เมือง จ.มหาสารคาม ซึ่งไม่ไกลจากตัวเมืองสารคามมากนัก ความโดดเด่นของ วัดป่าวังน้ำเย็น คือ เจดีย์ศรีมหาสารคาม องค์ใหญ่สีทองงดงาม มองเห็นสวยเด่นแต่ไกล รวมถึงศาลาการเปรียญไม้ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศซึ่งใช้เสาไม้ถึง 112 ต้น ภายในวัดยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องที่สร้างจากทองคำบริสุทธิ์ 3 องค์ น้ำหนักกว่า 12 กิโลกรัม ซึ่งวัดจะนำออกแห่รอบเมืองในงานทอดกฐินเป็นประจำทุกปี  ปัจจุบันวัดแห่งนี้นอกจากเป็นที่ศรัทธาของพุทธศาสนิกชน ยังมีชื่อเสียงมากขึ้นด้านการท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนา จนกลายเป็นจุดหมายห้ามพลาดของจังหวัด ที่นักท่องเที่ยวทั่วไปสามารถแวะเวียนเยี่ยมชมสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้

พระธาตุนาดูน

พระธาตุนาดูน แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกที่ในจังหวัดมหาสารคาม คือ พระธาตุนาดูน ตั้งอยู่ที่ บ้านนาดูน อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม นับเป็นสถานที่สำคัญทางพระพุทธ เป็นศาสนาคู่บ้านคู่เมืองของชาวมหาสารคาม  พื้นที่โดยรอบได้ถูกพัฒนาเพื่อเป็นศูนย์กลางส่งเสริมกิจการ พระพุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงเรียกขานว่าเป็น “พุทธมณฑลอีสาน” รอบองค์พระธาตุมีบริเวณ กว้างขวาง จัดแต่งเป็นสวนรุกขชาติ ปลูกต้นไม้ในพุทธประวัติ  พระธาตุนาดูน  เป็นเขตที่มีการขุดพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โบราณคดีที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองในอดีต เพราะบริเวณนี้ได้เคยเป็น ที่ตั้งของ นครจำปาศรีมาก่อน โบราณวัตถุต่างๆที่ค้นพบ ได้นำไปแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดขอนแก่น

และที่สำคัญยิ่งก็คือการขุดพบสถูป บรรจุพระบรมสารีริกธาตุบรรจุในตลับทองคำ เงิน และสำริด ซึ่งสันนิษฐานว่ามีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 13-15 สมัยทวาราวดี  รูปลักษณะพระธาตุนาดูน จำลองแบบจากสถูปสำริด ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ฐานประยุกต์แบบศิลปะทวาราวดี ฐานกว้าง 35.70 * 35.70 เมตร มีความสูงจากฐานถึงยอด 50.50 เมตร ฐานรากและโครงสร้างทั่วไปเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ทั้งหมด ผนังภายนอก พระธาตุส่วนใหญ่ทำด้วยหินล้างเบอร์ 4 บางแห่งฉาบปูนเรียบสีขาว มีลวดลายลวดบัว เสาบัวต่าง ๆ จำลองแบบพระเครื่องพิมพ์ต่าง ๆ ที่ขุดพบมาประดิษฐานพระธาตุจำนวน 32 รูป และมีมารแบกปั้นเป็นแบบนูนสูงประดับที่ฐานจำนวน 40 ตัว ตัวองค์พระธาตุจะแบ่งออก เป็น 16 ชั้น ลักษณะการก่อสร้างแบบคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งหมดภายในโปร่ง

ทุกปีจะมีการจัดงานนมัสการพระธาตุนาดูนในช่วงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 หรือวันมาฆบูชาภายในงานจัดให้มีกิจกรรมเวียนเทียน รอบองค์พระบรมธาตุ การบวงสรวงองค์พระบรมธาตุ การปฏิบัติธรรมวิปัสสนาการทำบุญตักบาตร สวดมนต์ฟังธรรม ขบวนแห่ ประเพณี 12 เดือน การแสดงแสง สี เสียง ประวัติความเป็นมานครจำปาศรีและการแสดงมหรสพสมโภชตลอดงาน เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00 – 18.00 น. จากตัวเมืองมหาสารคาม โดยใช้เส้นทางหมายเลข 2040 ผ่านอำเภอแกดำ อำเภอวาปีปทุม แล้วเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2045 ถึงอำเภอนาดูน ทางลาดยางตลอด ห่างจากตัวเมืองประมาณ 65 กิโลเมตร

สะพานไม้แกดำ

สะพานไม้แกดำ  สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญอีกที่ใน จังหวัดมหาสารคาม  ตั้งอยู่ที่ วัดดาวดึง อำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม เป็นสะพานไม้เก่า อายุราวกว่า 50 ปี  ที่ชาวบ้านใช้เป็นเส้นทางข้ามอ่างเก็บน้ำหนองแกดำ โดยเชื่อมระหว่างบ้านหัวขัวกับหมู่บ้านแกดำ แต่ก่อนสะพานไม้นี่ทรุดโทรมาก ชาวอำเภอแกดำพร้อมด้วยกำลังทหาร ช่วยกันซ่อมแซมสะพานไม้ โดยหวังให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์และอนุรักษ์ไว้ ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา รวมถึงพัฒนาสะพานไม้เก่าแก่แห่งนี้ ให้เป็นสถานที่ถ่ายภาพและเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดมหาสารคาม

สำหรับการเดินทางไปสะพานไม้แกดำ เราเริ่มต้นจากกรุงเทพโดยตั้งใน google map ให้นำทางโดยพิมพ์ว่า วัดดาวดึง หนองแกดำ ใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง ก็มาถึงศาลาของ วัดดาวดึง  เส้นทางก่อนถึงจะเข้าไปในหมู่บ้าน หากหาไม่เจอก็ถามชาวบ้านแถวนั้นก็ได้ค่ะ เรามาถึงกันแต่เช้าตรู่เพื่อตั้งใจมาเก็บภาพของพระอาทิตย์ขึ้นซึ่งพระอาทิตย์จะขึ้นฝั่งตรงข้ามกับวัด

เมื่อมาถึงก็จะเห็นป้ายและศาลเล็กๆซึ่งตั้งอยู่ข้างสะพาน ถึงแม้ที่เดินทางฟ้าจะครึ้มไปซักนิดแต่ยังถือว่าโซคดีที่พอได้เห็นพระอาทิตย์บ้าง สะพานไม้ที่ทอดยาวไปยังอ่างเก็บน้ำหนองแกดำซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติของอำเภอแกดำ มีเนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ ครอบคลุม 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านแกดำ บ้านหัวขัว บ้านโพธิ์ศรี  เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อชาวอำเภอแกดำ เพราะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลา มีความหลากหลายทางชีวภาพทั้งสัตว์น้ำ พื้ชน้ำ เช่น บัวแดง แหน สาหร่ายหางกระรอก เป็นต้นนอกจากนี้ ในหน้าหนาวยังสามารถพบเห็น นกเป็ดน้ำบินหนีหนาวมาจาก ไซบีเรีย มาอาศัยในบริเวณหนองแกดำด้วย

ลักษณะของสะพานคือ ใช้ไม้ปักลงไปกลางหนองน้ำและตอกด้วยตะปูเรียงกัน  สะพานจะไม่ได้ยาวเป็นเส้นตรงแต่เพียงอย่างเดียวแต่จะมีความโค้งในแต่ละช่วงดูสวยงามและอาร์ตไปอีกแบบ หากใครเคยไปเที่ยว สะพานซูตองเป้ ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ลักษณะจะคล้ายกันเพียงแต่สะพานไม้แกดำอยู่ท่ามกลางหนองน้ำและบึงบัว ส่วนสะพานซูตองเป้อยู่ท่ามกลางแปลงนาข้าว ด้านข้างของสะพานมีรูปปั้นกบขนาดใหญ่ ถามชาวบ้านว่ากบนั่นมีความสำคัญยังไงถึงขนาดปั้นกันใหญ่ขนาดนี้ ได้คำตอบว่า หมู่บ้านแกดำเป็นหมู่บ้านที่กบอาศัยอยู่เยอะมาก ชาวบ้านที่นี่ก็นิยมบริโภคกบและลูกอ๊อดด้วย สะพานแกดำ สะพานไม้แห่งชีวิต อีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวใหม่แห่งจังหวัดมหาสารคาม

ในจังหวัดมหาสารคาม ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกมากมาย ที่สามารถให้ผู้คนมาท่องเที่ยวแวะชมบรรยากาศ และเป็นการสร้างรายได้ให้แก่คนในพื้นที่อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ซึ่งมีเอกลักษณ์และวัฒนธรรมเฉพาะตัว ซึ่งเป็นจุดเด่น ที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวที่จังหวัดมหาสารคามมากขึ้นอีกด้วย