สะเมิง จังหวัดเชียงใหม่

เชียงใหม่ เป็นแหล่งปลูกสตรอว์เบอร์รีแห่งแรก ๆ ของประเทศไทย ในฤดูหนาวไม่ว่าใครได้มาเที่ยวเชียงใหม่เป็นต้องได้ลองลิ้มรสความอร่อยของสตรอว์เบอร์รี

วันนี้เราเลยจะพาไปเที่ยวเมืองสตรอว์เบอร์รีของเชียงใหม่กัน นั่นก็คือ “อำเภอสะเมิง” ซึ่งพอได้รู้จักกับสะเมิงมากขึ้น ก็ทำให้ได้รู้ว่าที่นี่ไม่ได้มีดีแค่สตรอว์เบอร์รีเท่านั้น แต่ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจรอให้นักท่องเที่ยวไปเที่ยวชมอยู่ไม่น้อยเลย แต่ก่อนที่เราจะพาไปเที่ยวสะเมิงกัน เรามาทำความรู้จักกับสะเมิงกันก่อนนะครับ

สะเมิง

ประวัติอำเภอสะเมิงโดยย่อ

เมื่อประมาณ 200 ปี ที่ผ่านมา ระหว่าง พ.ศ. 2250 – 2350 ดินแดนแห่งนี้เป็นป่าใหญ่ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยจตุบาทนานาชนิด และมวลหมู่แมกไม้นานาพันธุ์ซึ่งกาลครั้งนั้นอาณาจักรล้านนาแทบจะลุกเป็นไฟด้วยภัยสงคราม เพื่อแย่งชิงอำนาจระหว่างแว่นแคว้นต่าง ๆ ในราชอาณาจักร การขยายอำนาจของพม่าเป็นการศึกที่สู้รบกันอย่างรุนแรงและยาวนาน ทั้งยังเกิดการจราจลในเมืองเชียงใหม่ สถานการณ์ยุ่งเหยิงวุ่นวายเป็นอย่างยิ่ง ชาวบ้านเดือดร้อน จึงต่างอพยพหลบหนีภัยสงคราม บ้างหนีเข้าป่าไปตายเอาดาบหน้าชาวไทยลื้อและกะเหรี่ยงได้อพยพหลบหนีภัยสงครามเข้าป่าขึ้นเขามายังดินแดนแห่งนี้ และมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้าน ดงช้างแก้วพวกหนึ่ง อีกพวกหนึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านศาลา และพวกที่สามตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ บ้านแม่สาบ (จากคำบอกเล่าของอาจารย์ไกรศรี นิมมานเหมินทร์ นักโบราณคดีเมืองเหนือ) และไทยลื้อบ้านแม่สาบ อพยพเข้ามาอยู่สะเมิงประมาณ พ.ศ. 2324 คำว่า “สะเมิง” ได้กำเนิดขึ้นจากคำว่า “สามเมิง” ตามสำเนียงภาษาไทยลื้อ ที่เรียก “เมือง” ว่า “เมิง” ดังนั้นคำว่า “สามเมิง” ตามความหมายก็คือ คำที่มาจากการตั้งถิ่นฐานทั้งสามบ้าน สามเมือง นั่นเอง บางท่านสันนิษฐานว่ามาจากภาษากะเหรี่ยง ซึ่งมีความหมายว่า “แสงสว่าง”

อำเภอสะเมิง ได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2445 ขึ้นตรงต่อจังหวัดเชียงใหม่ เป็นอำเภออยู่ได้ 35 ปี ทางราชการเห็นว่าอำเภอสะเมิงอยู่ในถิ่นทุรกันดาร ห่างไกล การคมนาคมไม่สะดวกและการควบคุมดูแลไม่ทั่วถึง จึงยุบฐานะเป็น “กิ่งอำเภอสะเมิง” เมื่อ พ.ศ. 2480 และต่อมาได้ยกฐานะเป็น “อำเภอสะเมิง” เมื่อเดือนกรกฎาคม 2501 จนถึงปัจจุบัน

สะเมิง1

อาณาเขตติดต่อ

ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอแม่วาง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอแม่ริม อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ลักษณะภูมิประเทศ

อำเภอสะเมิง มีพื้นที่ทั้งหมด 1,002 ตารางกิโลเมตร หรือ 626,250 ไร่ พื้นที่ ส่วนใหญ่เป็นภูเขาและป่าไม้ ประมาณ 80% ของพื้นที่ทั้งหมด เป็นที่ราบ 20% ของพื้นที่ทั้งหมด มีแม่น้ำที่สำคัญ 2 สาย คือ แม่น้ำขานและแม่น้ำสะเมิง พื้นที่การใช้ประโยชน์ของอำเภอสะเมิง เป็นพื้นที่การเกษตร 24,391 ไร่ หรือ ร้อยละ 3.89 ของพื้นที่ทั้งหมด แยกเป็นพื้นที่ปลูกถั่ว 12,184 ไร่ หรือร้อยละ 40.8 ของพื้นที่ การเกษตร พื้นที่ทำสวน 9,769 ไร่ หรือร้อยละ 34.6 ของพื้นที่การเกษตรหรือพื้นที่ทำไร่ 4,223 ไร่ หรือร้อยละ 17.3 ของพื้นที่การเกษตรและ พื้นที่ปลูกซ้ำซ้อนพื้นที่เดิมของพืชสวน 7.1 %

ลักษณะภูมิอากาศ

อากาศเย็นสบายตลอดปี อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 35 องศาเซลเซียส และต่ำสุด 8 องศาเซลเซียส อุณหภูมิเฉลี่ยโดยทั่วไปประมาณ 22 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 114 มม./ปี โดยวัดปริมาณน้ำฝน สูงสุด 166 มม./ปี ต่ำสุดระหว่างเดือน กรกฎาคม – ตุลาคม

หลังจากที่เราได้รู้จักกับสะเมิงกันแล้ว คราวนี้เราไปรู้จักกับที่ท่องเที่ยวกันต่อเลยครับ จะมีที่ไหนบ้างตามผมมากันได้เลยนะครับ

1. ทุ่งดอกเก๊กฮวย บ้านอมลอง

เก๊กฮวยสะเมิง

ช่วงที่ลมหนาวกำลังมาเยือนปลายปีแบบนี้ หลายคนคิดอยากจะขึ้นเหนือไปสัมผัสความหนาว เรามีอีกหนึ่งที่มาแนะนำกับ “ทุ่งดอกเก๊กฮวย บ้านอมลอง” จังหวัดเชียงใหม่ ได้ข่าวมาแว่ว ๆ ตอนนี้ดอกเก๊กฮวยกำลังออกดอกสวยเต็มทุ่ง แถมยังมีลมหนาวพัดมาเบา ๆ ยิ่งทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยวที่นี่ดียิ่งขึ้นไปอีก ว่าแล้วก็ไม่รอช้า…เลยเอาบรรยากาศความสวยงามมาฝาก ลองใครได้เห็นคงอยากจะเดินทางไปเช็กอินแทบไม่ทันเลย

หากใครมีโอกาสไปเที่ยวเชียงใหม่ช่วงนี้ เราแนะนำให้คุณลองมาชมความสวยงามของทุ่งดอกเก๊กฮวย บ้านอมลอง ตั้งอยู่ตำบลแม่สาบ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งทุก ๆ ปีดอกเก๊กฮวยที่นี่จะบานรอต้อนรับนักท่องเที่ยวในช่วงประมาณเดือนตุลาคมถึงปลายเดือนพฤศจิกายน เรียกได้ว่าหนึ่งปีมีแค่ครั้งเดียวเท่านั้น !

จริง ๆ แล้วภายในบริเวณบ้านอมลอง นักท่องเที่ยวจะเห็นทุ่งดอกเก๊กฮวยกระจายอยู่ทั่วหมู่บ้าน ทุ่งดอกเก๊กฮวยที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่นิยม คือ “ไร่วังธาร” กับ “ไร่นายพล” บางทุ่งนักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมฟรี และบางทุ่งก็อาจเสียค่าบำรุงรักษา แต่ถึงอย่างนั้นนักท่องเที่ยวจะเห็นทุ่งดอกเก๊กฮวยแบบละลานตาให้เลือกเข้าชมมากมาย ด้วยเพราะชาวบ้านที่นี่นิยมปลูกกันเป็นทุนเดิมอยู่แล้วนั่นเอง

การเดินทางมายังทุ่งดอกเก๊กฮวย บ้านอมลอง

จากตัวเมืองเชียงใหม่ ขับออกมาตามถนนเลียบคลองชลประทาน จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนสะเมิง-หางดง จนเจอสามแยกที่ว่าการอำเภอสะเมิง ให้เลี้ยวขวาขับตามทางไปเรื่อย ๆ ผ่านหมู่บ้านแม่สาบ มาจนถึงบ้านแม่ขาน จากนั้นให้เลี้ยวขวา ตรงป้ายบอกทางไปวัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม ขับตรงเข้าไปประมาณ 10 กิโลเมตร ก็จะถึงบ้านอมลอง

2. จุดชมทิวทัศน์ป่าสะเมิง

วิวสะเมิง

จุดชมแห่งนี้ตั้งอยู่บนริมถนนสายแม่ริม-สะเมิง ช่วงหลักกิโลเมตรที่ 24-25 ตำบลสะเมิงใต้ เป็นจุดที่สามารถชมความสวยงามอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ในอำเภอสะเมิงได้แบบกว้างไกล และยังเป็นจุดชมทะเลหมอกสวย ๆ ของที่นี่ด้วย ถ้ามาเที่ยวชมช่วงเช้า อากาศจะหนาวเย็น สดชื่น มองเห็นพระอาทิตย์ทอแสงลงทะเลหมอกเป็นสีส้มทอง สวยงามน่าประทับใจสุด ๆ วิวตอนเย็นก็งดงามไม่แพ้กัน เพราะจะได้เห็นพระอาทิตย์ตกชัดเจนมาก ต้องไปเช็กอินกันสักครั้ง

3. สบสะเมิง อุทยานแห่งชาติออบขาน

สบสะเมิง

สบสะเมิง ตั้งอยู่ภายในอุทยานแห่งชาติออบขาน บริเวณบ้านทรายมูล หมู่ที่ 5 ตำบลสะเมิงใต้ อีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวสุดอันซีนของสะเมิง ด้วยมีลำธารซึ่งมีแก่งหินสวยงามให้ได้ชมกัน และเป็นจุดที่แม่น้ำสองสายไหลมาบรรจบกัน คือ แม่น้ำขาน และแม่น้ำสะเมิง ทั้งสองฟากฝั่งของลำธารมีโขดหินน้อยใหญ่ รูปร่างสวยงามแปลกตามากมาย

ที่พัก
1.หลองข้าวสะเมิง

หลองข้าว

“อากาศหนาวมาก วิวดีทุ่งดอกไม้สวยมาก นอนสบายเหมือนได้มาบ้านญาติ”

ข้อมูลติดต่อและที่อยู่

241, ตำบล สะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง เชียงใหม่ 50250

089 504 8108

2.North​ Star​ Valley​ หุบเขาดาวเหนือ

ดาวเหนือ

“บรรยากาศ สถานที่ การบริการ รสชาติอาหาร ดีมากๆค่ะ”

ข้อมูลติดต่อและที่อยู่

77/9​ หมู่1, โป่งแยงในซอย6​ ตำบล โป่งแยง อำเภอแม่ริม เชียงใหม่ 50180

080 565 1111

3.ภูผาวิวดอย Phupha View Doi

ภูผาวิว

“บรรยากาศดี เห็นหมอกจากหน้าต่างในตอนเช้า”

ข้อมูลติดต่อและที่อยู่

308 หมู่ 1 บ้าน แม่ สาบ ใต้, ตำบล แม่สาบ อำเภอสะเมิง เชียงใหม่ 50250

092 464 1498