สถานที่ท่องเที่ยวภาคอีสาน จังหวัดกาฬสินธุ์ วันนี้เราจะพากันมาเที่ยวที่ชุมชนเล็กๆแห่งหนึ่ง
ชุมชนเล็ก ๆ แห่งนี้ตั้งอยู่อยู่เชิงเขาภูพานในเขต อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ บ้านโคกโก่งเป็นหมู่บ้านขนาดเล็กจำนวนเพียง 100 กว่าหลังคาเรือน มีประชากรอาศัยอยู่ทั้งหมดประมาณ 500 คนเท่านั้น โดยที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ด้วยภูมิประเทศทำให้ชุมชนแห่งนี้มีอากาศที่บริสุทธิ์ ร่มรื่น และเย็นตลอดทั้งปีเพราะอยู่ชิดภูเขา และยังมีลำธารเล็กๆ ไหลจากภูเขาลงมาผ่านหมู่บ้านอีกด้วย
ชาวบ้านโคกโก่งอยู่อาศัยกันอย่างเรียบง่าย เมื่อหิวพวกเขาปลูกข้าวเหนียวไว้กินเองในนาท้ายบ้าน ไม่ก็ออกไปเก็บของป่าบนภูเขา ตะขบ มะค้อ มะเม่า ตับเต่า มะเกว๋น ฯลฯ ผลไม้เหล่านี้เป็นของอร่อยประจำท้องถิ่นและบางชนิดมีสรรพคุณเป็นยา เช่นเดียวกับสมุนไพรที่หาได้ทั่วไป ไม่ว่าฤดูกาลไหนพวกเขามีของอร่อยไว้กินไม่ขาด แกงอ่อมหวาย หมกเห็ด ซุปหน่อไม้ ไข่มดแดง แกง ผักหวาน และแมลงต่าง ๆ เป็นเมนูเด็ดที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปตามฤดูกาล
ชาวโคกโก่งเป็นชาวผู้ไทยที่สืบทอดสายเลือดกันมานับร้อยปี พวกเขายังคงรักษาวิถีแบบชาวผู้ไทยไว้อย่างเหนียวแน่นในชีวิตประจำวัน หากต้องการเสื้อผ้าสวมใส่พวกเขารู้วิธีการอิ้วฝ้าย กรอด้าย และทอผ้าไว้ใช้กันเองในครัวเรือน จนออกมาเป็นผ้าถุงมัดหมี่ เสื้อคอจีน ผ้าสไบ ที่มีลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นลายหมากตุ้ม ลายหมี่ หรือลายลูกโซ่ที่สื่อถึงความสามัคคีของชาวผู้ไทย พวกเขาสืบสานวิธีจักสาน หรือเมื่อมีแขกเหรื่อและพิธีการสำคัญพวกเขามีพิธีเหยาเพื่ออวยชัยให้พรและรับขวัญ
ถ้าหากจะมีสถานที่สักแห่งที่คุณจะถามตัวเองว่า สถานที่ใดที่จะตอบสนองความต้องการในการมีชีวิตที่เรียบง่ายและมีความสุข เราสามารถบอกกับคุณได้ว่า บ้านโคกโก่งเป็นหนึ่งในสถานที่แห่งนั้น
เดินทางจากอำเภอกุฉินารายณ์ ไปตามถนนหมายเลข 2042 ประมาณ 12 กม. ถึงบ้านนาไคร้ เลี้ยวซ้ายเข้าไปประมาณ 3 กม. หมู่บ้านวัฒนธรรมไทยโคกโก่ง
หมู่บ้านวัฒนธรรมผู้ไทยบ้านโคกโก่ง อยู่ตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นกลุ่มชนผู้ไทยอีกหนึ่งกลุ่มที่เดินทางอพยพย้ายถิ่นฐานมาเรื่อย ๆ จนมาตั้งหมู่บ้านโคกโก่งขึ้นในราวปี พ.ศ. 2499 ปัจจุบันชาวผู้ไทยโคกโก่งยังคงรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนเองไว้อย่างเข้มแข็งในการสืบทอดวัฒนธรรมของชาวผู้ไทยบ้านโคกโก่ง ยังคงปรากฏให้เห็นผ่านพิธีกรรมตามวิถีและความเชื่อของหมู่บ้าน เช่น พิธีเหยา อันเป็นพิธีการรักษาผู้ป่วยของชาวผู้ไทย เป็นการขอขมาผีที่ทำให้เจ็บป่วย หรือประเพณีเลี้ยงผีเซื้อ ซึ่งหมอเหยาในหมู่บ้านจะร่วมกันจัดขึ้นเพื่อขอบคุณดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ มีการรวมญาติจัดงานรื่นเริง และมีอาหารเซ่นไหว้นอกจากนี้ยังมีประเพณีเลี้ยงหอมเหศักดิ์ ที่ชาวบ้านร่วมกันจัดเพื่อบูชาเจ้านายที่เคยปกครองเมืองไทยให้ช่วยปกป้องรักษาบ้านเมืองให้อยู่เย็นเป็นสุข รวมทั้งการจัดงานประเพณีน้ำตกตาดสูง
ซึ่งมีการทำบุญเซ่นไหว้เจ้าปู่ และการแสดงศิลปวัฒนธรรมผู้ไทย ประเพณีและพิธีกรรมเหล่านี้ เป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตการยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมของชาวผู้ไทยบ้านโคกโก่งได้อย่างชัดเจนผู้สนใจสามารถเที่ยวชมวิถีชีวิตของชาวผู้ไทยและการผลิตสินค้าหัตถกรรมพื้นบ้าน การทอผ้า จักสานไม้ไผ่ ชมแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติภายในวนอุทยานภูผาวัว ซึ่งอยู่ติดเขตหมู่บ้านด้านทิศเหนือ มีเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติ ชมน้ำตกตาดสูง น้ำตกตาดยาว ผานางคอย ผานางแอ่น และดานโหลง ซึ่งเป็นลานหินกว้างที่มีต้นกระบองเพชรหินขึ้นประดับสวยงามและแปลกตาหรือพักโฮมสเตย์ในหมู่บ้านเพื่อสัมผัสวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชาวผู้ไทยบ้านโคกโก่งอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ บ้านโคกโก่งยังมีบริการรองรับคณะท่องเที่ยวเพื่อการศึกษาดูงานด้านภูมิปัญญาชุมชนอีกด้วย
โคกโก่งถิ่นผู้ไทย ใสสดน้ำตกตาดสูง ท้องทุ่งทิวเขางาม นามระบือผานางแอ่น ดินแดนผู้สาวซับ” นี่คือคำขวัญของบ้านโคกโก่ง หมู่ที่ 5 ตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ อยู่ห่างจากจังหวัดกาฬสินธุ์ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 90 กิโลเมตร
บ้านโคกโก่ง เป็นหมู่บ้านขนาดเล็ก สภาพภูมิอากาศค่อนข้างเย็น อาชีพหลัก คือเกษตรกรรม ทำนา ทำสวน ทำไร่ และเลี้ยงสัตว์ เดิมชาวผู้ไทโคกโก่งเป็นชนกลุ่มหนึ่งที่อพยพมาจากประเทศจีนตอนใต้ เคลื่อนลงมาผ่านเวียดนามและลาว ข้ามฝั่งแม่น้ำโขงเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ทางภาคอีสานของไทย โดยทั่วไปแล้วชาวผู้ไทยชอบอาศัยอยู่ใกล้ภูเขาเนื่องจากต้องพึ่งพาอาศัยธรรมชาติมา ชาวผู้ไทยเป็นผู้ยึดมั่นในธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น ภาษาพูด การแต่งกาย ดนตรีพื้นบ้าน การทอผ้า การจักสานไม้ไผ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปนิสันโอบอ้อมอารี ยิ้มแย้มแจ่มใส และความเป็นมิตร
และมีพิธีกรรมที่สำคัญ ได้แก่ พิธีเหยา เป็นการรักษาผู้ป่วย โดยขอขมาผีที่ทำให้เจ็บป่วย พิธีเลี้ยงผีบ้าน และพิธีเลี้ยงเจ้าปู่ตา ของดีของบ้านโคกโก่ง คือวนอุทยานภูผาวัว ที่มีพื้นที่ประมาณ 4,000 ไร่ อยู่ติดกับหมู่บ้านด้านทิศเหนือ ธรรมชาติสวยงามมากมีเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติ ชมน้ำตกตาดสูง น้ำตกตาดยาว ผานางคอย ผานางแอ่น
บ้านโคกโก่ง เป็นหมู่บ้านที่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิตแบบชาวผู้ไท เอาไว้อย่างเหนียวแน่น ชาวบ้านได้มีการรวมกลุ่มเพื่อร่วมกระทำกิจกรรมและอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวผู้ไท เช่น รวมกลุ่มกันเล่นดนตรีพื้นบ้าน ฟ้อนรำผู้ไท การแสดงแบบผู้ไทอื่นๆ อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาเป็นเวลาอันยาวนาน
บ้านโคกโก่งได้เปิด หมู่บ้านวัฒนธรรมผู้ไทบ้านโคกโก่ง เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศทางวัฒนธรรมประเพณีและวิถีชีวิตของชาวผู้ไทตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้ให้ความสนใจเดินทางมาเยือนจำนวนมาก และมีการค้นหาจุดแข็ง จุดอ่อนของหมู่บ้านร่วมกันอย่างค่อยเป็นค่อยไป และมีการประชุมปรึกษาหารือ มีการระดมความคิดในการพัฒนาเพื่อให้ได้รับมาตรฐาน โดยมีหน่วยงานภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือ ในปี 2543 หมู่บ้านวัฒนธรรมผู้ไทยโคกโก่ง ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมประเภทแหล่งท่องเที่ยวเมืองและชุมชน ในการประกวดรางวัลอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ครั้งที่ 3ประจำปี 2543 (Thailand Tourism Awards 2000)
ชาวบ้านโคกโก่ง ได้ดำเนินการจัดตั้งกลุ่ม โดยมีชื่อกลุ่มว่า “กลุ่มสหกรณ์การท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์บ้านโคกโก่ง” ชื่ออักษรย่อ สทคก. สำนักงานที่ตั้งกลุ่มอยุ่ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านโคกโก่ง หมู่ที่ 5มีปรัชญาการบริหารกลุ่มว่า “จริงใจจริงจัง รับฟังความคิดเห็น เน้นการให้บริการ ประสานผลประโยชน์” ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถพักแรมแบบโฮมสเตย์ เพื่อสัมผัสวิถีชีวิตและประเพณีของชาวบ้าน เช่น พิธีบายศรีสู่ขวัญ พิธีเหยา (การรักษาผู้ป่วย) รับประทานอาหารพื้นบ้านแบบพาแลง ชมการแสดงศิลปะพื้นบ้าน และเดินป่าศึกษาธรรมชาติพรรณไม้และพืชสมุนไพรท้องถิ่น ชมน้ำตกตาดสูง-ตาดยาว ตามเส้นทางเดินป่าในวนอุทยานภูผาวัว
ลักษณะเด่น
มีประเพณี – พิธีกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวบ้านผู้ไท ภูมิปัญญาท้องถิ่น การแต่งกาย คนในชุมชนทุกเพศทุกวัยล้วนแต่งกายด้วยชุดผู้ไท ภาษาพูดคนในชุมชนยังคงใช้ภาษาพื้นบ้าน คือภาษาผู้ไทเป็นภาษาพูด งานศิลปหัตถกรรมมีกลุ่มสตรีทอผ้า ตัดเย็บเสื้อผ้าแบบผู้ไท ทั้งเย็บด้วยจักรและเย็บด้วยมือ มีกลุ่มจักสานเครื่องใช้ในครัวเรือน
ประวัติ
เมื่อปี พ.ศ.2432 ชนชาวผู้ไทบ้านคำเฮ้ (โนนนำคำ) ตำบลหนองสูง อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร ได้ อพยพมา 2 ครัวเรือนจำนวน 19 คน นำโดยนายอุปชัย มาตั้งหมู่บ้านอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของบ้านโคกโก่งปัจจุบันนี้ ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านทุ่งบักเฒ่า”ต่อมาได้มีชาวเผ่ากุลาประมาณ 10 คน มาขออาศัยอยู่ด้วย พวกกุลามีนิสัยอันธพาล สร้างความเดือนร้อนแก่ชาวบ้านเป็นอันมากจึงพากันกลับไปอยู่ที่บ้านคำเฮ้ฮัก จนถึงปี พ.ศ.2449 พวกเขาจึงอพยพมาที่บ้านทุ่งบักเฒ่าอีก แต่สภาพที่ดินทำกินไม่เหมาะสมจึงพากันย้ายมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ใหม่ และได้ทำเรื่องขอตั้งชื่อหมู่บ้านอย่างเป็นทางการตามสภาพภูมิประเทศว่า “บ้านโคกโก่ง” มีนายเจ้าชิน เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกของหมู่บ้าน จนมาถึงปัจจุบันมีนายขวัญชัย ปัททะทุม ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านคนที่ 8 คนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพหลัก คือการทำนา-ทำไร่ อาชีพรอง คือการเลี้ยงสัตว์ต่างๆ การทอผ้าฝ่าย จักสาน เย็บปัก ถักร้อย หาของป่า และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมผู้ไท
ข้อมูลเพิ่มเติม
รางวัลที่ได้รับเกี่ยวกับการจัดการท่องเที่ยวของชุมชน
รางวัลอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยอดเยี่ยม (กินรีทอง) ปี พ.ศ. 2543 รางวัลอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมายุครบ 80 พรรษา
ปี พ.ศ. 2550 การประกวด อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยดีเด่น ปี พ.ศ. 2551
แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวของชุมชน
– พัฒนาการท่องเที่ยวของชุมชน
– คัดสรรรูปแบบการท่องเที่ยวให้เหมาะสมกับยุคสมัย
– มุ่งเน้นเพิ่มความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น
ที่พัก
1.จำนวนโฮมสเตย์หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมผู้ไทโคกโก่งโฮมสเตย์ (20 หลัง)
• บ้านนางเพย กาละว้า : พักได้ 4-6 คน / มี 2 ห้องน้ำ
• บ้านนางวิจา ใจคง : พักได้ 4-6 คน / มี 2 ห้องน้ำ
• บ้านนางดวงหอม อุทะรัง : พักได้ 4-6 คน / มี 3 ห้องน้ำ
• บ้านนางรอบ ใจสิน : พักได้ 4-6 คน / มี 2 ห้องน้ำ
• บ้านนางอลิษา ตรัยวงศ์ : พักได้ 4-6 คน / มี 1 ห้องน้ำ
• บ้านนายเตือนใจ อุทรักษ์ : พักได้ 4-6 คน / มี 2 ห้องน้ำ
• บ้านนางสมัย อุทรักษ์ : พักได้ 4 คน / มี 1 ห้องน้ำ
• บ้านนายสุบัน วิเศษศรี : พักได้ 4 คน / มี 1 ห้องน้ำ
• บ้านนายเพียร ชัยฤทฺธิ : พักได้ 4 คน / มี 1 ห้องน้ำ
• บ้านนางหลิ่ง เเสงโคตร : พักได้ 4-8 คน / มี 4 ห้องน้ำ
• บ้านเครือ คนซื่อ : พักได้ 4 คน / มี 2 ห้องน้ำ
• บ้านยายเนิด : พักได้ 4-6 คน / มี 3 ห้องน้ำ
• บ้านยายหวิญ อาจวิชัย : พักได้ 4 คน / มี 1 ห้องน้ำ
• บ้านป้าอาจ : พักได้ 4 คน / มี 1 ห้องน้ำ
• บ้านนางย้อม เเสงโตตร : พักได้ 4 คน / มี 1 ห้องน้ำ
• บ้านนายไท ชัยหนองเเค : พักได้ 4-6 คน / มี 2 ห้องน้ำ
• บ้านป้าเจริญ จันปุ่ม : พักได้ 4 คน / มี 2 ห้องน้ำ
• บ้านนางไกรศรี หนองสูง : พักได้ 4-6 คน / มี 2 ห้องน้ำ
• บ้านนางกัญยา ไชยฤทธิ์ : พักได้ 4 คน / มี 1 ห้องน้ำ
• บ้านสมบัติ สมสวย : พักได้ 4-6 คน / มี 3 ห้องน้ำ
รวมทั้งหมด 20 หลัง ราคาที่พัก 800 บาทต่อคน (รวมค่าที่พัก และค่าอาหาร 2 มื้อ)