ท่องเที่ยวบุรีรัมย์ ชมผ้าทอภูอัคนี

ท่องเที่ยวบุรีรัมย์ ชมผ้าทอภูอัคนี กล่าวสำหรับ จ.บุรีรัมย์ มีตำนานเล่าขานมากมาย แต่สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวอีกสิ่งหนึ่งนั้นก็คือ “ผ้าฝ้าย”ที่มีสีและการสร้างสรรค์ชิ้นงานที่คงความเป็นอัตลักษณ์ของเมือง ผ้าฝ้ายที่จังหวัดแห่งนี้มีแหล่งผลิตหลายที่ แต่ที่น่าสนใจคือผ้าฝ้ายจากหมู่บ้านเจริญสุข ตำบลเจริญสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ อีกทั้งยังตั้งเป็นกลุ่มอาชีพทอผ้าไหม–ผ้าฝ้าย เพื่อสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน

ผ้าทอภูอัคนี หรือ ผ้าย้อมดินภูเขาไฟ สินค้าโอท๊อป หนึ่งเดียวในบุรีรัมย์ ตั้งอยู่ในหมู่บ้านเจริญสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านที่นำวัตถุดิบจากธรรมชาติ หาได้ในท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ โดยเป็นกรรมวิธีในการย้อมสีผ้าให้ออกมามีสีสวยงามอย่างมีเอกลักษณ์ ด้วยการนำผ้าฝ้ายหรือผ้าไหม ไปย้อมกับดินภูเขาไฟ หนึ่งในวัตถุดิบสำคัญที่หาได้ไม่ยาก เพราะหมู่บ้านเจริญสุข ตั้งอยู่ใกล้กับ “เขาพระอังคาร” ซึ่งเป็นภูเขาไฟเก่าแก่ที่ดับ แล้ว 1 ใน 6 ลูกของจังหวัดบุรีรัมย์ ดินบริเวณนี้จึงอุดมด้วยแร่ธาตุจากลาวาภูเขาไฟที่ปะทุออกมาในอดีต นอกจากเป็นประโยชน์ในการเพาะปลูกแล้ว ชาวบ้านเจริญสุข ยังคิดค้นวิธีการนำดินเหล่านี้มาใช้ย้อมผ้าอีกด้วย จากการค้นพบทรัพย์จากผืนดิน ถูกนำมาผสมผสานภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์สร้างชื่อ มีเอกลักษณ์ด้านสิ่งทอที่มีชื่อว่า ผ้าภูอัคนี ที่ผ่านการผสมผสานจากผ้าฝ้ายสีขาว เปลี่ยนเป็นสีดินน้ำตาลอ่อนกับน้ำตาลแดงแบบดินภูเขาไฟ

ขั้นตอนการย้อมเริ่มต้นจากการนำดินภูเขาไฟ ใกล้ๆ กับเขาพระอังคารมา และนำมาคัดเศษผงที่เจือปนออก หลักจากนั้นก็นำไป ผสมกับน้ำในอัตราส่วน ดินภูเขาไฟ 3 กิโลกรัมต่อ น้ำเปล่า 10 ลิตร ก็จะได้น้ำดินภูเขาไฟที่มีสีน้ำตาล สำหรับขั้นตอนนี้หากอยาก ได้ผ้าสีเข้มก็ผสมน้ำให้น้อยลง หากอยากได้สีอ่อนก็ผสมน้ำให้มากขึ้น ขั้นตอนต่อไป คือ ขั้นตอนการย้อมสีผ้า โดยจะนำผ้าฝ้าย หรือผ้าไหมที่ต้องการย้อมสีและจะใช้ผ้าน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ในการย้อมแต่ละครั้ง นำผ้าลงไปแช่ในน้ำดินภูเขาไฟที่เตรียมไว้ โดยจะใช้เวลาในการแช่ผ้าทิ้งไว้ประมาณ 8-10 ชั่วโมง ก็จะได้ผ้าสีน้ำตาลเย็นตา สีสันสวยงามตามที่ต้องการ หลักจากนั้นก็จะนำผ้า ที่ได้ไปล้างน้ำให้สะอาด แล้วนำไปตากที่ราวและยืดให้ตรง

หมู่บ้านเจริญสุข ยังมีภูมิปัญญาที่จะรักษาสีผ้าให้คงทนด้วยเช่นกัน นั้นคือ การนำผ้าที่ได้จากการย้อมดินภูเขาไฟไปต้มกับ “น้ำเปลือกต้นประดู่” ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญาชาวบ้าน ในการนำ วัตถุดิบที่หาได้จากท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ขั้นตอนการนำผ้าเเช่น้ำเปลือกประดู่ต้ม ให้ฟังอีกว่า “นำเปลือกต้นประดู่มาต้มในน้ำ ซึ่งน้ำต้มจะต้องร้อนแต่ไม่ให้เดือดจนเกินไป หลังจากนั้นนำผ้าที่ต้องการลงไปแช่ประมาณ ครึ่งชั่วโมง ขั้นตอนนี้จะเป็นการป้องกันการตกของสีอีกครั้ง ทั้งในน้ำเปลือกต้นประดู่ ก็ยังมียางและสีที่คล้ายกับสีดินภูเขาไฟ จึงเป็นการเคลือบสีไปในในตัว ผ้าที่ได้จึงเงางามยิ่งขึ้นและไม่ตกสี

หลังจากผ่านกระบวนการต่างๆแล้ว กลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าทอ ไม่ว่าจะเป็นผ้าพันคอหรือเสื้อผ้า ปกติเจอสินค้าโอท๊อปประเภทผ้าพันคอมาหลายแห่ง ได้ยินชื่อเสียงมานานมีโอกาสได้ไปเห็นของจริง เนื้อผ้านิ่มและมีลวดลายที่สวยงามมาก ในราคาหลักร้อนต้นๆเท่านั้น รับรองเลยถ้าใครได้เห็นและสัมผัสเนื้อผ้า ต้องเสียเงินซื้อกลับบ้านมาใช้เองและเป็นของฝากหลายผืนทีเดียว