สถานที่ท่องเที่ยวภาคอีสาน จังหวัดขอนแก่นวันนี้เราขอพาไปหาความรู้กันสักหน่อยที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติขอนแก่น
ข้อมูลพิพิธภัณฑ์
จัดตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นที่รวบรวม สงวนรักษา และจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติในเขตภาคอีสานตอนบน ซึ่งเป็นที่ที่พบโบราณสถานและโบราณวัตถุศิลปวัตถุเป็นจำนวนมาก มีส่วนจัดแสดงนิทรรศการและส่วนบริการ ดังนี้
ส่วนจัดแสดงที่ 1 : สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จัดแสดงเรื่องราวในอดีตของจังหวัดขอนแก่นซึ่งเป็นแหล่งอารยธรรมสำคัญของภูมิภาคอีสาน จากหลักฐานทางโบราณคดีสามารถสรุปได้ว่า มีชุมชนโบราณตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตจังหวัดเป็นจำนวนมาก สามารถผลิตเครื่องมือเครื่องใช้และน่าจะมีการติดต่อกับชุมชนภายนอกที่อยู่ห่างไกลด้วย
ส่วนจัดแสดงที่ 2 : สมัยประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมทวารวดี ประชากรที่อาศัยในแถบที่ราบลุ่มแม่น้ำชีได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมทวารวดี ซึ่งอาจผ่านมาทางเมืองศรีเทพ ปรากฏการสร้างศาสนสถานทางพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะใบเสามาหิน เป็นต้น
ส่วนจัดแสดงที่ 3 : วัฒนธรรมขอม จัดแสดงเรื่องราวของจังหวัดขอนแก่นและพื้นที่ภาคอีสานตอนบนเมื่อวัฒนธรรมขอมหรือเขมรโบราณบริเวณลุ่มแม่น้ำมูลได้แพร่กระจายเข้ามา ปรากฏจากศาสนสถานแบบเขมร ซึ่งมักสร้างเป็นอาคารประกอบด้วยศิลาแลงและศิลาทราย ตกแต่งด้วยภาพสลักของเทพเจ้าต่างๆ
ส่วนจัดแสดงที่ 4 : วัฒนธรรมล้านช้าง จัดแสดงเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับอิทธิพลของวัฒนธรรมล้านช้างแถบลุ่มแม่น้ำโขงและวัฒนธรรมล้านนา ดังปรากฏหลักฐานการพบพระพุทธรูปที่มีลักษณะแบบวัฒนธรรมล้านช้าง
ส่วนจัดแสดงที่ 5 : สมัยรัตนโกสินทร์ จัดแสดงเนื้อหาเกี่ยวกับการสร้างเมืองขอนแก่น ซึ่งได้เริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนคำว่า “เมือง” เป็น “จังหวัด”
ส่วนจัดแสดงที่ 6 : ห้องศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านอีสาน จัดแสดงองค์ความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิต วัฒนธรรมและประเพณี ความเชื่อท้องถิ่น ของประชากรหลากเชื้อชาติที่อาศัย่วมกันในภูมิภาคอีสาน ปรากฏหลักฐานจากการแต่งกาย เครื่องมือเครื่องใช้ ที่อยู่ การดนตรีนาฏศิลป์ ซึ่งสะท้อนออกมาเป็นเอกลักษณ์ของประชาชนในพื้นที่
บริหารจัดการ
กรมศิลปากร
ประเภทพิพิธภัณฑ์
ชีวประวัติ, ประวัติศาสตร์ และ โบราณคดี
วัตถุจัดแสดงที่มีความสำคัญ / สิ่งที่น่าสนใจ
• ใบเสมาหินจำหลักนูนต่ำ ภาพพระนางพิมพาสยายพระเกศาเช็ดพระบาท สมัยทวารวดี
• แผ่นเงินดุน ภาพพระพุทธรูป พระโพธิสัตว์ ภาพบุคคล และเจดีย์บรรจุอยู่ในหม้อดินเผา สมัยทวารวดี
• เทวรูปพระอิศวรหินทราย สมัยลพบุรี
• ทับหลังสลักภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ สมัยลพบุรี
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น
เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2510 เพื่อเป็นสถานที่รวบรวม สงวนรักษาและจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ซึ่งเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ต่อมา พ.ศ. 2511 – 2512 ได้รับงบประมาณจัดซื้อครุภัณฑ์และก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2515 ดำเนินการจัดแสดงแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2515
ต่อมา พ.ศ. 2535 กรมศิลปากรมีนโยบายที่จะพัฒนาและปรับปรุงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อก่อสร้างอาคารสำนักงานและห้องประชุมเป็นเงิน 3,000,000.- บาท และ พ.ศ. 2536 จัดสรรงบประมาณ 985,300.- บาท จัดซื้อวัสดุและครุภัณฑ์เพื่อพัฒนาและปรับปรุงการจัดแสดงนิทรรศการถาวรภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น ให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนในท้องถิ่นตามแนวทางการพัฒนากิจการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมัยใหม่ซึ่งเป็นนโยบายที่สำคัญของกรมศิลปากร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น จึงนับเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญอีกแห่งหนึ่งในท้องถิ่นสำหรับผู้ที่สนใจได้เข้ามาศึกษาเรื่องราวทางด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี วิถีชีวิต ประเพณีและวัฒนธรรมเพื่อสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมให้ยังคงอยู่ต่อไป
ภารกิจขององค์กร
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น เป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม อยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของสำนักศิลปากรที่ 9 ขอนแก่น รับผิดชอบงาน ด้านโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุในเขตพื้นที่ 5 จังหวัด คือ จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม เลย หนองบัวลำภู และจังหวัดหนองคาย ภารกิจหลักขององค์กรมีดังต่อไปนี้
1. สำรวจ รวบรวมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและวัตถุทางชาติพันธุ์ สงวนรักษา อนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของชาติ
2. ศึกษา ค้นคว้า วิจัยเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อม จากหลักฐานที่เป็นโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และวัตถุทางธรรมชาติ
3. นำเสนอข้อมูลทางวิชาการ โดยการจัดแสดงโบราณวัตถุทั้งนิทรรศการถาวรและนิทรรศการชั่วคราว เพิ่มความรู้และความเพลิดเพลิน แก่สาธารณชนทุกเพศ ทุกวัย ทุกระดับการศึกษา
4. ส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้ จัดกิจกรรมและบริการด้านการศึกษา
5. เป็นองค์กรเพื่อการอนุรักษ์ เป็นสถาบันการศึกษานอกระบบ แหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต แหล่งท่องเที่ยว ทางศิลปวัฒนธรรม และศูนย์ชุมชน
6. ส่งเสริมพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ประสานความร่วมมือกับชุมชนในท้องถิ่น เพื่อการอนุรักษ์และสืบทอดมรดกทางศิลปวัฒนธรรม
7. ตรวจตรา ควบคุม ดูแลและดำเนินการเกี่ยวกับโบราณวัตถุตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถานโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และกฎหมาย ระเบียบ ประกาศอื่นที่เกี่ยวข้อง
บริการหลักขององค์กร
1.เป็นสถาบันการศึกษานอกระบบ เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรมโดยจัดแสดงนิทรรศการถาวร นิทรรศ การชั่วคราวและนิทรรศการเคลื่อนที่ เพื่อเพิ่มความรู้และความเพลิดเพลินแก่สาธารณชนทุกเพศ ทุกวัย ทุกระดับการศึกษา
2. จัดกิจกรรมพิเศษและให้บริการด้านการศึกษา เพื่อส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้งานด้านวัฒนธรรม
3.ให้บริการด้านเอกสารข้อมูลเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากหลักฐานโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและวัตถุทางธรรมชาติที่มีการรวบรวมไว้
กลุ่มเป้าหมายที่มุ่งให้บริการ
นักท่องเที่ยวในประเทศ นักท่องเที่ยวต่างประเทศ นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา – มัธยมศึกษา นักศึกษาระดับอุดมศึกษา นักวิชาการและบุคคลทั่วไป
การบริการ
1. นำชมนิทรรศการภาษาไทยและมีเอกสารแผ่นพับภาษาไทยและภาษาอังกฤษไว้บริการ
2. ศูนย์ค้นคว้าข้อมูล (ห้องสมุด)
3. ร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึก หนังสือ เครื่องดื่มและขนมขบเคี้ยว
การเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
1. หนังสือนำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
2. เอกสารแผ่นพับแนะนำพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
3. กรณีที่มีการจัดกิจกรรมพิเศษ จัดทำเอกสารเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลผ่านสื่อต่างๆ ได้แก่ หนังสือพิมพ์ วิทยุและจดหมายข่าว
การจัดกิจกรรมและการประสานความร่วมมือ
ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในจังหวัดขอนแก่น โรงเรียนในเขตจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียง มหาวิทยาลัยขอนแก่น พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งอื่นและองค์กรภาคเอกชนในจังหวัดขอนแก่น หากมีการประสานขอความร่วมมือ ขอความอนุเคราะห์เข้าเยี่ยมชม ขอให้เข้าร่วมจัดกิจกรรมหรือขอใช้สถานที่ในการประกอบกิจกรรมต่างๆ
โครงการ/ กิจกรรมประจำปี
1. กิจกรรมสันทนาการเนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ ในวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคมของทุกปี
2. นิทรรศการพิเศษเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย วันที่ 2 เมษายน ของทุกปี
3. โครงการทำทะเบียนและสำรวจขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ
4. นิทรรศการสัญจรแนะนำพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่นตามโรงเรียน และชุมชนต่างๆ ในเขตจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียง
5. กิจกรรม / โครงการเกี่ยวกับงานด้านวิชาการ การให้บริการนำชม
ที่พัก
1.โรงแรมต้นเงิน
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น • อยู่ห่างออกไป 1.7 กม
โรงแรมดังในย่านใจกลางเมือง ราคา700บาท(ไม่รวมอาหารเช้า)800บาท(รวมบุฟเฟ่ต์อาหารเช้า)
ข้อดี ตกแต่งสวย มีที่จอดรถเยอะ ทำเลดี ออกไปข้างนอกมีร้านอาหารเลือกหลากหลาย
ข้อเสีย ห้องไม่เก็บเสียง ข้างห้องเปิดทีวีก็ได้ยินชัด ห้องน้ำ
ข้อมูลติดต่อและที่อยู่
155 26 ถนน หลังเมือง ในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น ขอนแก่น 40000
043 000 298
2.โรงแรมเลอ แคสเซีย
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น • อยู่ห่างออกไป 1.2 กม.
โรงแรมที่ Renovate ใหม่ เหมาะสำหรับการพัก เมื่อเดินทางมาทำธุระหรือท่องเที่ยวที่เมืองขอนแก่น ห้องพักพอใช้ได้ที่จอดรถมีพอสมควร
ข้อมูลติดต่อและที่อยู่
68 ถนน พิมพสุต ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น ขอนแก่น 40000
043 333 666
3.โรงเเรม โรเเมนติค ขอนเเก่น
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น • อยู่ห่างออกไป 750 เมตร
ห้องพักดีจร้าสะอาดพนักงานให้การบริการดีตั้งแต่พนักงานรับกระเป๋าเลย
มีโอกาสมาเที่ยวขอนแก่นจะแวะพักอีกนะ
ราคาดีด้วยเข้าร่วมโครงการของรัฐแบ่งเบาภาระในกระเป๋าได้เยอะเลยแนะนำ
ข้อมูลติดต่อและที่อยู่
เลขที่ 1 หมู่ที่ 13 ถนน กสิกรทุ่งสร้าง ตำบลในเมือง 40000
043 043 595