สถานที่ท่องเที่ยว จังหวัดแพร่ วันนี้เรายังพาไปเที่ยวเรือนเจ้าขุนมูลนายอยู่นะครับ ที่คุ้มวงศ์บุรี หรือ บ้านวงศ์บุรี อาคารสีชมพูโดดเด่น อายุกว่า 100 ปี ตั้งอยู่ที่ ถนนคำลือ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ คุ้มวงศ์บุรี สร้างขึ้น ตามดำริของแม่เจ้าบัวถา ชายาองค์แรกในเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ เจ้าผู้ครองนครแพร่องค์สุดท้าย เพื่อเป็นของกำนัลในการเสกสมรส ระว่างเจ้าสุนันตา ผู้เป็นบุตรีเจ้าบุรีรัตน์ และหลวงพงษ์พิบูลย์ คุ้มหลังนี้อาคารแบบไทยผสมยุโรปสีชมพูอ่อน ซึ่งเป็นสีโปรดของแม่เจ้า บัวถา เป็นเรือนไม้สักทองขนาดใหญ่ 2 ชั้นทรงไทยล้านนาผสมยุโรป ประดับตกตกแต่งลวดลายด้วยไม้ฉลุที่เรียกว่าลาย“ขนมปังขิง” ตามความนิยมกันใน รัชกาลที่ 5 ที่ถูกสร้างไว้อย่างสวยงามอยู่ทั่วตัวอาคาร เช่น หน้าจั่ว สันหลังคา ชายน้ำ ช่องลม กรอบเช็ด หน้าต่าง เหนือประตูและหน้าต่าง ระเบียง ภายในอาคารปรากฎลายพรรณพฤกษาและเครือเถาว์ เป็นต้น ฐานรากของอาคารเป็น ท่อนไม้ซุง เนื้อแข็งขนาดใหญ่วางเรียงกันก่อนจะก่ออิฐเทปูนทับลงไป เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของอาคาร คุ้มวงศ์บุรี ประกอบด้วย ห้องที่น่าสนใจ คือ ห้องของเจ้าบัวถา ห้องรับแขก ห้องนอน ซึ่งแต่ละห้องมีข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ อาทิ ตู้ เตียงนอน โต๊ะ เก้าอี้ โต๊ะเครื่องแป้ง ถ้วย ชาม เครื่องเงิน กำปั่นเหล็ก อาวุธโบราณ พระพุทธรูปโบราณสมัยเชียงแสน อู่ทอง รวมถึงรูปภาพเก่าแก่ต่างๆ ที่ประดับบอกเรื่องราวของบ้านหลังนี้
วัสดุหลักในการก่อสร้างอาคารคือไม้สักทองคุณภาพดีที่สุดจากป่าห้วยขมิ้นซึ่งเป็นป่าของเจ้าบุรีรัตน์ บิดาเจ้าสุนันตา แต่เดิม ตัวอาคาร ใช้เทคนิคการเข้าลิ้นสลักไม้ ไม่ตอกตะปูแต่เป็นการตอกลิ่มไม้แทน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเรือนเครื่องสับตามแบบงานช่างไทยโบราณ แต่เดิมหลังคาจะมุงด้วยแป้นไม้เกร็ดซึ่งมีลักษณะเป็นไม้แผ่นเล็กๆวางเรียงซ้อนกัน ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นสังกะสีตามสมัยนิยมและกระเบื้อง ว่าว ตามลำดับ อาคารด้านหลังเป็นเรือนไม้ใต้ถุนสูงโล่งอันเป็นคุ้มหลังเดิมของแม่เจ้าบัวถา มหายศปัญญา ระหว่างอาคารส่วนหน้า และส่วนหลังมีการเชื่อมต่อด้วย“ชาน” และมีการยกระดับพื้นขึ้นเรียกว่า“เติ๋น”ที่ใช้เป็นส่วนนั่งเล่นพักผ่อนอิริยบท และรับประทานอาหาร
นอกจากนี้ยังมีเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่หาดูได้ยากก็คือ เอกสารการขอสัมปทานป่าไม้ในอดีต ตั๋ว รูปพรรณช้าง โค สัญญาบัตร ที่ได้รับการโปรดเกล้าจากรัชกาลที่ 5 รวมถึงเอกสารการซื้อ-ขาย ทาส ) ที่พบในบ้านวงศ์บุรี มีแม่เจ้าบัวถา และเจ้าน้อยพรม (หลวงพงษ์พิบูล) เป็นนายเงิน(ผู้ซื้อ) โดยมีการซื้อตั้งแต่ ร.ศ.119 (พ.ศ. 2443) ถึง ร.ศ.124 (พ.ศ.2448) รวม 49 ฉบับ ซึ่งเอกสาร ดังกล่าวดูได้เพียงแค่ตาไม่สามารถถ่ายภาพได้
เฮือนสีชมพูหลังใหญ่ที่ตั้งตระหง่านอยู่ตรงหน้าผม เป็นสีชมพูหวานงามตรึงใจไม่ประเจิดประเจ้อ ไม้ฉลุลายวิจิตรที่ประดับอยู่อย่างงดงามลงตัว ช่วยขับอาคารโบราณหลังนี้ให้ดูโดดเด่นสะดุดตา บุรุษและสตรีทั้ง 5 ท่านกำลังรอผมอยู่ กมลวรรณ วงศ์บุรี (รุ่งเรืองศรี), ดร.ณัชนพงศ์ วงศ์บุรี, สหยศ วงศ์บุรี, กัญชลิกา วงศ์บุรี และศรีพนา วงศ์บุรี คือทายาทผู้อาศัยและดูแลคุ้มวงศ์บุรีแห่งนี้สืบต่อจากบรรพบุรุษ
วันนี้ทุกท่านพร้อมแล้วที่จะพาผมเดินสำรวจคุ้มวงศ์บุรีอย่างละเอียด ไม่เพียงแต่ซึมซับความงามเด่นด้านสถาปัตยกรรมเท่านั้น แต่ยังพร้อมถ่ายทอดเรื่องราวอันเป็นจริยวัตรของเจ้านายฝ่ายเหนือ รวมทั้งการอนุรักษ์และพัฒนาคุ้มวงศ์บุรีให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดแพร่ด้วย
ปุ่มบันทึกเสียงบนโทรศัพท์มือเริ่มทำงาน ปากกาในมือเริ่มลื่นไหลไปตามคำสัมภาษณ์ ขณะที่เรากำลังออกเดินสำรวจคุ้มวงศ์บุรีไปทีละห้อง ถ้าพร้อมแล้ว ขอเชิญก้าวตามผมกลับไปสู่อดีตเมื่อ 123 ปีก่อนพร้อมๆ กัน
เฮือนแห่งความฮัก
“แม่เจ้าบัวถาสร้างคุ้มวงศ์บุรีขึ้นเพื่อให้เป็นเรือนหอของเจ้าสุนันตา” สหยศเอ่ย และนั่นคือข้อสันนิษฐานที่ว่าทำไมคุ้มหลังนี้ถึงสีชมพู “ท่านสร้างคุ้มวงศ์บุรีขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2440 ใช้เวลาสร้างสามปีจึงแล้วเสร็จ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับที่เจ้าสุนันตาสมรสกับเจ้าพรหมพอดี”
แม่เจ้าบัวถาเป็นชายาองค์แรกของเจ้าพิริยเทพวงศ์ เจ้าหลวงองค์สุดท้ายของแพร่ที่ครองเมืองตั้งแต่ พ.ศ. 2432 – 2445 ก่อนการปฏิรูปการปกครองเป็นระบบมณฑลเทศาภิบาลขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2446 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งส่งผลให้แพร่ปรับสถานะจากเมืองประเทศราชที่มีเจ้าหลวงปกครองตนเองมาเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย
แม่เจ้าบัวถาไม่มีบุตรธิดากับเจ้าหลวง ต่อมาได้ตัดสินใจแยกทางกัน และรับเอาเจ้าสุนันตา ธิดาของเจ้าบุรีรัตน์ผู้เป็นน้องชายมาเป็นบุตรบุญธรรม พร้อมกับสร้างคุ้มวงศ์บุรี
คุ้มวงศ์บุรีสร้างขึ้นตามสถาปัตยกรรมวิกตอเรียนที่พัฒนาขึ้นในอังกฤษช่วง ค.ศ. 1837 – 1901 ในรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ความโดดเด่นของสถาปัตยกรรมวิกตอเรียนคือการตกแต่งอาคารอย่างอ่อนช้อยด้วยไม้ฉลุลายเลียนแบบพฤกษาพรรณตามธรรมชาติ ก่อให้เกิดลายน้ำ ลายเถาวัลย์ ลายดอกไม้ ฯลฯ ประดับไปทั่วอาคาร
สถาปัตยกรรมวิกตอเรียนเข้ามาสู่ประเทศไทยสมัยรัชกาลที่ 4 อันเป็นช่วงที่อังกฤษกำลังรุ่งเรืองและมีอาณานิคมอยู่ทั่วโลก ส่งผลให้สถาปัตยกรรมแขนงนี้แผ่ขยายไปทั่วโลกด้วย ในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์หลายแห่งก็สร้างขึ้นตามแบบวิกตอเรียน ตัวอย่างที่เรารู้จักกันดีก็คือพระที่นั่งวิมานเมฆ คนไทยเป็นคนชอบความสวยงามอ่อนช้อย ช่างไทยเป็นผู้ที่ชื่นชอบการตกแต่งประดับประดาอาคารให้มีลูกเล่น สถาปัตยกรรมวิกตอเรียนจึงแพร่หลายทั่วไปในแดนสยาม เพียงแต่ว่าการผูกลายประดับอาคารนั้นอาจจะแปลกแยกแตกต่างกันไปบ้าง ตามความชำนาญของช่างในแต่ละท้องถิ่น
ในช่วง พ.ศ. 2440 แพร่เป็นเมืองที่อินเตอร์มากๆ มีชาวตะวันตกอาศัยอยู่กลุ่มใหญ่ โดยเฉพาะชาวอังกฤษ การขยายตัวของอุตสาหกรรมป่าไม้ส่งผลให้รัชกาลที่ 5 ตัดสินพระทัยตั้งกรมป่าไม้ขึ้น โดยทรงนำคณะเจ้าหน้าที่ชาวอังกฤษจากอินเดียเข้ามารับราชการในกรมป่าไม้เป็นคณะแรก บริษัทค้าไม้สัญชาติอังกฤษอย่างบอมเบย์เบอร์มา (Bombay Burmah Trading Corporation) ก็ตั้งอยู่นานแล้ว ก่อนที่จะตามมาด้วยบริษัทสัญชาติเดนมาร์กอย่างอีสต์เอเชียติก ดังนั้นสถาปัตยกรรมที่งดงามจากยุโรปแขนงนี้ จึงเผยแผ่เข้ามาที่แพร่ด้วย ไม้สักของไทยเป็นไม้ที่แกะสลักฉลุลายได้ง่าย ช่างไม้ฝีมือเยี่ยมมีอยู่มากมาย เราจึงพบอาคารทรงวิกตอเรียนหลายหลังตั้งอยู่ในจังหวัดแพร่ แต่หลังแรกที่สร้างขึ้นคือคุ้มวงศ์บุรี
ช่างชาวจีนกวางตุ้งเป็นผู้ออกแบบและก่อสร้างร่วมกับช่างท้องถิ่น เป็นการสร้างโดยไม่ใช้เสาเข็ม แต่ก่อรากฐานด้วยท่อนซุงวางเรียงอยู่ลึกลงไปใต้ดิน ก่อนเทปูนทับอีกชั้นให้แข็งแรง การประกอบอาคารก็ไม่ใช้ตะปูเลยสักตัว ใช้เพียงการเข้าลิ่มแบบโบราณ และมีลายฉลุที่เป็นลายเถาวัลย์ ลายพรรณพืช ลายดอกไม้ ฯลฯ วางในกรอบทรงเรขาคณิตแบบต่างๆ เช่น ทรงสามเหลี่ยม ทรงครึ่งวงกลม ประดับทั่วไปทั้งคุ้ม แล้วลวดลายก็จะต่างกันไปด้วย” คุณศรีพนาเล่าเสริม
เจ้าสุนันตาและเจ้าพรหมก็ไม่มีบุตรธิดา ท่านจึงไปรับหลานคือเจ้าไข่มุกต์ วงศ์บุรี และเจ้าทองด้วง วงศ์บุรี มาเลี้ยงดูเป็นบุตรธิดาบุญธรรมเพื่อเป็นทายาทสืบเชื้อสายคุ้มวงศ์บุรี ต่อมาท่านได้รับคุณประจวบ วงศ์บุรี มาเป็นบุตรบุญธรรมด้วยอีกคน
พ่อของผมคือเจ้าทองด้วง วงศ์บุรี เมื่อท่านแต่งงานกับคุณแม่ คือคุณวรรณี ลิ้มตระกูล แล้วก็อาศัยอยู่ที่คุ้มวงบุรีต่อมา ที่นี่จึงเป็นเรือนหอของท่านด้วย หากสังเกตดีๆ ตรงกลางจั่วหน้าคุ้มจะเป็นไม้ฉลุลายดอกโบตั๋น ความที่ช่างเป็นคนจีน ดอกโบตั๋นตามคติจีนนั้นแทนความซื่อสัตย์ ความมั่นคง รวมทั้งความรัก” คุณสหยศกล่าว
คุ้มวงศ์บุรีเป็นอาคารไม้สักสองชั้น ยื่นหน้ามุข ในอดีตบันไดหน้ามุขมักจะปิดไว้เสมอ เพื่อสงวนไว้ให้เฉพาะแขกที่มาเยี่ยมเยือนอย่างเป็นทางการเท่านั้น เมื่อขึ้นบันไดมาจะพบโถงงดงามด้วยไม้ฉลุลายที่ประดับอยู่ทั่วไป หน้าต่างบานกระทุ้งเปิดออกรับแสงสว่าง มีภาพเขียนของแม่เจ้าบัวถาประดับเด่นเป็นประธาน
ของใช้ประจำตระกูลที่จัดแสดงอยู่บริเวณนี้คือกำปั่นเหล็กที่เคยใช้เก็บเอกสารสำคัญทางราชการและของครอบครัว เป็นกำปั่นสลักตราอาร์มแผ่นดินพระราชทานจากรัชกาลที่ 5 ที่ตั้งแสดงอยู่ใกล้กันคือผางลางซึ่งเป็นกระเดื่องสำหรับใช้กับช้าง
ผางลางทำจากทองเหลือง ภายในมีแกนไม้หุ้มหนังสัตว์แขวนไว้ เวลาช้างเคลื่อนไหว แกนจะตีกระทบโลหะจนเกิดเสียงกังวานก้อง ควาญจะนำผางลางใส่โครงไม้แล้วมัดไว้ที่ด้านหลังของกูบเฉพาะช้างเชือกแรกและเชือกสุดท้ายของขบวนเท่านั้น เสียงผางลางช่วยกำกับแนวขบวนช้างให้เดินตามกันโดยไม่หลงทิศ ทั้งยังเตือนผู้คนทั่วไปว่าขบวนช้างกำลังจะผ่านมา
ในอดีตเคยมีพิธีสำคัญที่เกิดขึ้นหน้าคุ้ม นั่นคือพิธีเอาขวัญช้าง พิธีนี้จัดขึ้นประจำปีละครั้ง ควาญให้ช้างหยุดลากซุง เพื่อเร่งเดินทางกลับมายังคุ้มให้ตรงวันที่กำหนดไว้ตามฤกษ์ และให้ช้างทั้งหมดมายืนเรียงแถวหน้ากระดาน แม่เจ้าบัวถาจะยืนอยู่บนระเบียงหน้ามุขและกล่าวบทเอาขวัญช้าง เนื้อความเป็นการกล่าวขอบคุณช้างที่ทำงานหนักมาตลอดทั้งปี พร้อมขอโทษหากทำการใดๆ ที่รุนแรงล่วงเกินช้างไป มีบันทึกว่า ช้างของคุ้มวงศ์บุรีมีถึง 69 เชือก ทั้งนี้เพราะแม่เจ้าบัวถาเป็นผู้สืบทอดกิจการป่าไม้ของครอบครัว
บริเวณใต้ภาพเขียนแม่เจ้าบัวถามีกูบตั้งอยู่ เป็นกูบที่เจ้านายเคยใช้นั่งบนหลังช้างมาก่อน บริเวณนี้ยังเคยเป็นที่ตั้งศพสำหรับบำเพ็ญกุศลของสมาชิกหลายรุ่น ตั้งแต่ศพของแม่เจ้าบัวถา เจ้าสุนันตา และเจ้านายในรุ่นต่อๆ มา
หากศึกษาประวัติของเจ้าสุนันตาและเจ้าพรหมผู้เป็นเจ้าของห้องคู่แรก จะพบว่าท่านเป็นผู้ที่มีความขยันหมั่นเพียรเป็นอย่างยิ่ง ท่านได้เสาะหาที่ดินเพิ่มเติมอีกเป็นจำนวนมาก เพื่อบุกเบิกให้เป็นที่ดินเช่าทำนา ผู้เช่ามักจะชำระค่าเช่าในรูปแบบของการแบ่งปันข้าวเปลือกครึ่งหนึ่งที่ผลิตได้
เมื่อก่อนด้านหลังคุ้มวงศ์บุรีจะมีตุ๊ข้าวหรือยุ้งฉางขนาดใหญ่อยู่ 2 ที่ เก็บข้าวเปลือกได้สูงสุดถึง 200 ตัน ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่าหากวันใดเป็นวันข้าวเปลือก ผู้เช่าที่นาจะนำข้าวเปลือกบรรทุกเกวียนเทียมวัวคู่มุ่งหน้ามายังคุ้มวงศ์บุรี จำนวนเกวียนนั้นยาวต่อกันไปหลายกิโลเมตร ข้าวถือเป็นสิ่งจำเป็น เพราะท่านต้องนำมาเลี้ยงดูลูกหลานและบริวารที่อาศัยอยู่อย่างหนาแน่น หากผลผลิตของนาผืนไหนมีปริมาณน้อย ไม่พอบริโภค ก็มาขอปันจากคุ้มวงศ์บุรีได้ เป็นที่น่าเสียดายว่าตุ๊ข้าวไม่มีปรากฏให้เห็นแล้วในวันนี้
นอกจากนี้ เจ้าสุนันตายังเป็นผู้ขอสัมปทานเพื่อขยายขอบเขตการทำป่าไม้ด้วยมีช้างและแรงงานอีกเป็นจำนวนมากที่ต้องเลี้ยงดูให้อิ่มท้อง การดำเนินกิจการป่าไม้ของท่านแผ่ขยายไปทั้งเมืองแพร่และน่าน ทั้งยังได้ร่วมทำธุรกิจกับบริษัทค้าไม้ของตระกูลล่ำซำอีกด้วย เอกสารสัญญาเกี่ยวกับสัมปทานป่าไม้ยังมีจัดแสดงไว้ที่ห้องด้านล่าง
การเป็น Living Museum ทำให้เรามีโอกาสได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยตัวเอง เขาก็เป็นเหมือนแขกของเรา ทำให้บรรยากาศอบอุ่น เขาสามารถถามข้อมูลเชิงลึกได้จากแม่ จากผม จากพี่น้อง เราตอบเขาด้วยความเข้าใจและความรู้สึก เพราะข้อมูลอยู่ในเลือดเนื้อและจิตวิญญาณ และสิ่งนี้ก็สร้างความสุขให้เราด้วย คุณแม่นี่เช้ามาจะแต่งตัวสวยรอรับนักท่องเที่ยวเลย ท่านเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของคุ้มวงศ์บุรี เสียดายที่ท่านไม่อยู่แล้วในวันนี้”
ทุกวันนี้สมาชิกรุ่นลูกรุ่นหลานยังประจำการอยู่ที่คุ้ม พร้อมเจ้าหน้าที่ที่ทำงานกับครอบครัวมานานนับสิบปี ทุกคนพร้อมที่จะนำชมด้วยจิตวิญญาณดั่งเดิม นอกจากการเป็นพิพิธภัณฑ์สำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวไทยแล้ว คุ้มวงศ์บุรียังพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก บริษัทท่องเที่ยวจากยุโรปนำนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมสม่ำเสมอ ที่คุ้มยังเปิดร้านอาหารที่ว่ากันว่าเสิร์ฟข้าวซอยอร่อยที่สุดในจังหวัด นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่จัดงานแต่งงานที่คู่รักหลายคู่ปรารถนา
“การอนุรักษ์อาคารโบราณเป็นสิ่งที่ยากและใช้งบประมาณสูง การซ่อมแซมวัสดุทุกชิ้นต้องทำอย่างพิถีพิถันและถูกต้องตามยุคสมัย ไม่สามารถใช้วัสดุอะไรก็ได้ เราเก็บค่าเข้าชมเพียงคนละสามสิบบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้ไม่เพียงพอต่อการบำรุงรักษา แต่รายได้จากส่วนนี้ทำให้เราพอมีงบประมาณในการดูแลรักษาคุ้มวงศ์บุรีต่อไปได้
“แม่เจ้าบัวถาท่านเจตนาสร้างคุ้มวงศ์บุรีขึ้นเป็นเรือนหอ แล้วปัจจุบันคุ้มวงศ์บุรีก็กลับไปเป็นสถานที่แต่งงานของคู่รักอีกหลายร้อยคู่ตามที่ท่านริเริ่มไว้ สิ่งที่เราพยายามทำทั้งหมด ก็เพื่อรักษาคุ้มวงศ์บุรีไว้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของแพร่ต่อไป เราคิดว่าประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตของเมืองแพร่ส่วนหนึ่งอยู่ในนี้” ครอบครัววงศ์บุรีร่วมกันสรุป
การที่เกิดมาเป็นลูกเจ้านายฝ่ายเหนือ อะไรคือสิ่งที่ยึดปฏิบัติมาโดยตลอด นี่คือคำถามสุดท้ายของผมต่อทายาทคุ้มวงศ์บุรี
“พ่อสอนเราเสมอว่าลูกเกิดมามีพร้อมทุกอย่างแล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดก็เพื่อนพ่อ คนถีบสามล้อก็เพื่อนพ่อเหมือนกัน ลูกต้องห้ามดูถูกคน ทำอะไรที่เกิดประโยชน์ต่อสังคมได้ก็ให้ทำ” คุณกัญชลิกาสรุป
ทุกวันนี้ทายาทคุ้มวงศ์บุรีพยายามริเริ่มกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อชุมชน เช่น ‘กาดกองเก่า’ ตลาดวันเสาร์ที่รวบรวมสินค้าและอาหารพื้นเมืองหลากชนิดมาจัดจำหน่าย จนกลายเป็นหนึ่งในตลาดที่คนอยากไปเที่ยวมากที่สุด และยังมีอีกหลายโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้นเพื่อทำให้จังหวัดแพร่เปลี่ยนสถานะจาก ‘เมืองผ่าน’ ไปเป็นหมุดหมายของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและธรรมชาติ การอนุรักษ์ครั้งนี้จึงไม่ได้จำกัดเฉพาะเขตรั้วคุ้มวงศ์บุรี แต่ยังแผ่ขยายออกไปยังชุมชนด้วย
ขอขอบพระคุณ
• ทายาทคุ้มวงศ์บุรีผู้ร่วมให้สัมภาษณ์ทุกท่าน
• คุณกมลวรรณ วงศ์บุรี รุ่งเรืองศรี
• ด.ร. ณัชนพงศ์ วงศ์บุรี
• คุณสหยศ วงศ์บุรี
• คุณกัญชลิกา วงศ์บุรี
• คุณศรีพนา วงศ์บุรี
• คุณนฤมล วงศ์วาร เครือญาติคุ้มวงศ์บุรี ผู้ประสานงานการสัมภาษณ์ นักวางแผนกลยุทธ์และสถาปนิกผู้ศึกษาและอนุรักษ์เรื่องชุมชน ประวัติศาสตร์ และมรดกทางวัฒนธรรมของเมืองแพร่
• คุณวทัญญู เทพหัตถี สถาปนิกอนุรักษ์ ผู้แนะนำเรื่องคุ้มวงศ์บุรี
• ดร. ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน สถาปนิกอนุรักษ์ ผู้ตรวจสอบต้นฉบับ โดยเฉพาะเรื่องสถาปัตยกรรมวิกตอเรียน
ที่พัก
1.เฮือนเชตวัน
พิพิธภัณฑ์คุ้มวงศ์บุรี • อยู่ห่างออกไป 350 เมตร
นอนสบายมากอากาศดี
ในห้องมีทุกอย่างครบสำหรับอำนวยความสะดวก
เหมาะกับคนไม่เรื่องมากสบายๆ
พนักงานบริการดี
ราคาเหมาะสม
ป้ายบอกทางอยู่ปากเข้าชัดเจน
ข้อมูลติดต่อและที่อยู่
20/2 ถ ซอย เชตวัน ตำบล ในเวียง อำเภอเมืองแพร่ แพร่ 54000
054 524 420
2.โรงแรม เฮือนฮิมกอง
พิพิธภัณฑ์คุ้มวงศ์บุรี • อยู่ห่างออกไป 210 เมตร
โรงแรมยังใหม่ พักห้อง standard ตกแต่งเรีบยง่ายดูทรงคุณค่าด้วยไม้สัก ทีสำคัญคือห้องพักสะอาด ไม่มีกลิ่นอับเลย พอใจมากกับห้องน้ำ ไม่มีกลิ่น ชักโครกใหญ่นั่งสบาย ปริมาณน้ำจากฝักบัวที่เหมาะสม บรรยากาศโรงแรมเงียบสงบตั้งอยู่ในบริเวณเขตกำแพงเมืองซึ่งเป็นชุมชุนเก่าแก่ของเมืองแพร่ และแวดล้อมด้วยสถานที่สำคัญ เช่น คุ้มเจ้าหลวงและมีวัดสำคัญๆ อยู่ใกล้เคียงในรัศมีไม่เกิน 200 เมตร ถึง 4 วัด รวมถึงวัดหลวงที่เชื่อว่ามีอายุนับพันปี จะเดินหรือขี่รถจักรยานของโรงแรมเที่ยวชมก็จะได้บรรยากาศดี
ข้อมูลติดต่อและที่อยู่
16/1 ซอย ชุมชนวัดหลวง ตำบล ทุ่งกวาว อำเภอเมืองแพร่ แพร่ 54000
054 533 777
3.คำมูนลอฟ โฮเทล
พิพิธภัณฑ์คุ้มวงศ์บุรี • อยู่ห่างออกไป 400 เมตร
เจ้าของ และพนักงานในโรงแรมใจดี และให้ความช่วยเหลือดีมากๆ เลยค่ะ (อยากให้ดาวล้านดวง) พอดีระหว่างเดินทาง เราเกิดเหตุรถตู้ที่นั่งมาต้องกลับไปก่อน น้องคนขับรถก็มาส่งเราไว้ถึงที่นี่ พร้อมหารถคันใหม่ให้เราด้วย แต่รถคันใหม่เราเกเรนิดนึง มาช้าและไม่เก็บอารมณ์ บอกว่าไม่พอใจก็ไม่ต้องมากับเค้า เราก็รับคำท้านั้น และหารถคันใหม่ ระหว่างนั้นเจ้าของโรงแรมและพี่พนักงานช่วยเราหารถ ซึ่งไม่มีคนคันไหนว่างเลยเพราะตรงกับวันหยุดยาว เราก็เลยตัดสินใจโทรหารถสองแถว เราเปิดลำโพงตอนคุยกับรถสองแถว พี่พนักงานก็บอกว่าเสียงเหมือนลุงตื้อเลย เราก็ถามว่าใช่ลุงตื้อไหม เค้าก็บอกว่าเค้าคือลุงตื้อ พี่พนักงานก็บอกว่าลุงตื้อใจดี หลังจากนั้นเราก็ได้ใช้บริการรถสองแถวของลุงตื้อไปเที่ยว และพาไปส่งที่ จ.ลำปาง พร้อมลุงตื้อยังหารถตู้ให้เรานั่งกลับจนถึงบ้านเลย
ข้อมูลติดต่อและที่อยู่
ซอย 1 ถนนเชตวัน ตำบล ทุ่งกวาว อำเภอเมืองแพร่ แพร่ 54000
096 698 2294