สถานที่ท่องเที่ยว จังหวัดลำพูน วันนี้เราจะพาไปเที่ยวกันที่ คุ้มเจ้ายอดเรือน
คุ้มเจ้ายอดเรือน ตั้งอยู่ใน อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เป็นอาคารที่เก่าที่สุดหลังหนึ่งในเขตกำแพงเมืองลำพูน เป็นเรือนพักอาศัย ซึ่งเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์สุดท้าย สร้างขึ้นเพื่อมอบให้แก่ชายาเจ้ายอดเรือน ชายาองค์สุดท้าย เมื่อปี พ.ศ.2470 ซึ่งมีความเก่าแก่และยังคงรักษาสภาพเดิมไว้ค่อนข้างสมบูรณ์ ประกอบด้วย อาคารเรือนไม้ ข่วง ลานดินกว้างหน้าบ้าน ต้นไม้มงคล ยุ้งข้าว บ่อน้ำและส่วนประกอบอื่น ๆ ปัจจุบันคุ้มเจ้าเรือน เปิดให้บุคคลทั่วไปได้เข้าชมมีวัตถุประสงค์ เพื่อใช้เป็นแหล่ง ศึกษาหาความรู้ด้านสถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์ของเมืองลำพูน เป็นการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมให้มีสภาพ สมบูรณ์ และสามารถใช้เป็นสถานที่จัดแสดงอาคารโครงสร้างบ้านเก่า สิ่งของ เครื่องใช้พื้นบ้าน และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ เจ้าผู้ครองนครลำพูน อีกทั้งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกด้วย
ลักษณะเรือน ของคุ้มเจ้ายอดเรือนหลังนี้ ตัวเรือนทำด้วยไม้สัก เป็นแบบเรือนสรไน ชั้นดียวใต้ถุนสูง หน้าจั่ว สรไน ที่สร้างด้วย ไม้กลึงท่อนเดียว อันเป็นเทคนิคโบราณหายากยิ่ง ทำให้ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามฯ มีหลังคาทรงจั่ว ผสมปั้นหยา (มนิลา) มุงกระเบื้องคอนกรีต เรือนใหญ่มี 5 ห้อง เรือนรองมี 3 ห้อง มีชานใหญ่เปิดโล่งเชื่อมเรือนใหญ่และเรือนรองที่วาง ขนานกัน สุดชานมีเรือนเล็กเป็นห้องอาบน้ำและห้องส้วม บันไดขึ้นเรือนอยู่ด้านตะวันตกของเรือน มีเสาแหล่งหมาสูงรับหลังคาคลุมบันได ที่ต่อเป็นหลังคาสตูปคลุมชานบันได และเป็นทางเข้าห้องรับแขกและห้องเล็กต่อเนื่องจนถึงชานใหญ่
สล่าประจวบ ธิแจ้ ผู้มีความรู้และประสบการณ์ ด้านเรือนพื้นเมืองโบราณของจังหวัดลำพูน ได้ให้ความเห็นว่า ไม้สักที่ใช้สร้าง คุ้มเจ้ายอดเรือน แปรรูปด้วยเลื่อยมือและขวานถากไม้ทุกแผ่น ไม่ได้ใช้กบไสไม้แต่อย่างใด ตัวเรือนก็ไม่ได้ใช้เหล็กยึดติดกับเสาปูน ที่รองรับอยู่ใต้ถุน เพียงวางกันไว้ สามารถยกเรือนขึ้นได้ทั้งหลัง ส่วนฝาบ้านจะตีไม้ไขว้ เรียกว่า เบ็งไม้และจะเบ็งไว้ทุกมุมด้านในของ ตัวบ้าน เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับตัวบ้าน ทั้งนี้ ภายในห้องต่างๆ ของคุ้มเจ้ายอดเรือน ก็ยังมีข้าวของเครื่องใช้ตั้งแต่สมัยอดีตให้ชม รวมทั้งข้อมูลประวัติความเป็นมาของเจ้ายอดเรือนและข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย นอกจากความงามในด้านสถาปัตยกรรมของตัวเรือน ทีเก่าแก่และทรงคุณค่า คุ้มเจ้ายอดเรือน ยังเปรียบเสมือนสถานที่ให้คนรุ่นหลังได้รำลึกถึง และทำความรู้จักกันกับ เจ้ายอดเรือนในฐานะ ชายาเจ้าหลวงจักรคำฯ เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์สุดท้าย
คนส่วนใหญ่ได้ยินแต่กิตติศัพท์ของ “คุ้มเจ้ายอดเรือน” ว่าโดดเด่นในด้านตัวหน้าจั่ว “สรไน” ที่สร้างด้วย “ไม้กลึง” ท่อนเดียว อันเป็นเทคนิคโบราณหายากยิ่ง ทำให้ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามฯ เมื่อสองปีที่ผ่านมา
แล้วประวัติความเป็นมาแห่งเจ้าของคุ้มเล่า ไยจึงไม่มีการเผยแพร่กันบ้าง จะให้ไปค้นหาอ่านจากหนังสือเล่มไหนหรือ
คงถึงเวลาแล้วกระมัง ที่ต้องนำเสนอชีวประวัติของ “เจ้ายอดเรือน ณ ลำพูน” ผู้เป็นชายาองค์สุดท้าย ของเจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์สุดท้าย
มิใช่เขียนเพื่อสรรเสริญเยินยอต่อคุณูปการที่ท่านทำหน้าที่ “แม่ศรีเรือน” สมสมัญญา หากเป็นเพราะคำนำหน้านามของท่านนั้น เคยเกิดข้อถกเถียงอยู่ช่วงหนึ่ง จำเป็นต้องชี้แจงต่อสาธารณชนให้หายคาใจ
เจ้ายอดเรือน “ชายา” หรือ “หม่อม”?
ของเจ้าหลวงลำพูน
หลายปีก่อนได้มีทายาทของเจ้าหลวงลำพูนที่สืบสายมาจากชายาลำดับที่สอง ได้ทักท้วงว่าการเรียกชื่อ “เจ้า” ยอดเรือน นั้นเป็นคำเรียกที่ผิด เนื่องจากเจ้ายอดเรือนหาใช่ “ชายา” ไม่ เป็นเพียงสามัญชน จึงมีฐานะแค่ “หม่อม” คนหนึ่ง
เหตุการณ์นั้นลุกลามไปถึงการประท้วงให้ถอดป้ายชื่อ “คุ้มเจ้ายอดเรือน” ออกจากอาคารด้วย
แม้แต่ประวัติทำเนียบชายาของเจ้าหลวงลำพูน ในเล่มที่ทายาทสายนั้นบันทึกไว้ก็ไม่ปรากฏนามของเจ้ายอดเรือนแม้แต่แห่งเดียว สร้างความสับสนงุนงงให้แก่ครูสอนประวัติศาสตร์ในลำพูนไม่น้อย
เพื่อให้ผู้อ่านคลายความสงสัยในเบื้องต้น ขออนุญาตเกริ่นนำถึงเจ้าหลวงลำพูนกันเสียก่อน
เจ้าหลวงลำพูนองค์สุดท้ายก่อนที่จะมีการยกเลิกตำแหน่งนี้ เป็นองค์ที่ 10 มีนามเต็มว่า พลตรีมหาอำมาตย์โท เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ สมภพ เมื่อ19 พฤษภาคม 2418 คนลำพูนเรียกท่านย่อๆ ว่า “เจ้าหลวงจักรคำฯ”
เจ้าหลวงจักรคำฯ ได้รับพระราชทานนามสกุลจากรัชกาลที่ 6 ให้เป็นต้นสกุล “ณ ลำพูน” สืบสายมาจากวงศ์เดียวกันกับเจ้าหลวงเชียงใหม่และลำปาง นั่นคือสายของพระเจ้ากาวิละ ผู้ที่ตัดสินใจพาชาวล้านนาไปขอพึ่งบารมีของพระเจ้ากรุงธนบุรีเพื่อปลดแอกพม่า ทำให้ล้านนามีฐานะเป็น “ประเทศราช” ของสยาม
ส่งผลให้เจ้าผู้ครองนครในล้านนามีฐานันดร “หย่อนชั้น” ลงมาจากพระมหากษัตริย์ ซึ่งราชสำนักสยามมีฐานานุศักดิ์เริ่มจากพระเจ้าแผ่นดิน เจ้าฟ้า พระองค์เจ้า หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ หม่อมหลวง จนสิ้นสุดคำนำหน้าไปแล้ว สิ่งที่ยังสะท้อนว่าคนผู้นั้นมีเชื้อเจ้า ก็คือการใช้นามสกุล ณ อยุธยา ต่อท้าย
แต่สำหรับเจ้าผู้ครองนครล้านนาแล้ว โดยทั่วไประดับสูงสุดมีฐานะ “พระองค์เจ้า” หรือ “เจ้าประเทศราช” ยกเว้นบางพระองค์มีฐานะสูงในระดับ “เจ้าฟ้า” ถือเป็นกรณีพิเศษที่ได้รับการปูนบำเหน็จความดีความชอบจากทางสยาม แต่มีไม่มากนัก จัดเป็น “พระเจ้าประเทศราชล้านนา” ของลำพูนเคยมีพระเจ้าบุญมาเมืองเพียงพระองค์เดียว
ซึ่งเจ้าหลวงจักรคำฯ ก็อยู่ในฐานันดรที่เทียบได้กับพระองค์เจ้า
ท่านมีชายา 4 องค์ และหม่อมสองคน ชายาท่านแรกคือ “แม่เจ้าขานแก้ว” (อนึ่ง คำว่า “แม่เจ้า” บางครั้งอาจใช้สลับกับ “เจ้าแม่” ได้เช่นกัน) ผู้เป็นธิดาเจ้าบุรีรัตน์ หรือเจ้าน้อยพรหมเทพ ชายาองค์แรกนี้ถึงแก่กรรมตั้งแต่อายุ 28 ปี มีทายาทผู้สืบสายสกุลในฐานะโอรสองค์โต ถ้าเทียบแล้วก็คือระดับหม่อมเจ้า นาม “เจ้าพงศ์ธาดา ณ ลำพูน”
ชายาองค์ที่สองคือ “แม่เจ้าแขกแก้ว” เป็นน้องสาวแท้ๆ ของแม่เจ้าขานแก้ว ต่อมาท่านลาออกไปดูแลเจ้าบิดาของท่านเมื่อปี พ.ศ.2459
ชายาองค์ที่สามเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางคือ “เจ้าหญิงส่วนบุญ” หรือ “แม่เจ้าส่วนบุญ” ผู้มีสายสกุลทั้งจากลำพูนและเชียงใหม่
สุดท้าย “แม่เจ้ายอดเรือน” ซึ่งมีความสนิทชิดเชื้อกับแม่เจ้าส่วนบุญมาก ทั้งสองต่างก็รักยกย่องเกรงใจและให้เกียรติซึ่งกันและกัน เจ้าส่วนบุญแทนตัวเองว่าพี่ ส่วนเจ้ายอดเรือนแทนตัวเองว่าข้าเจ้าเหมือนผู้หญิงล้านนาที่ใช้คำนี้กับผู้สูงวัยกว่า
นอกจากนี้ ยังมีหม่อมอีกสองคนคือ หม่อมคำแยง และหม่อมแว่นแก้ว ซึ่งทั้งคู่มีอายุมากกว่าเจ้ายอดเรือนและเข้ามาอยู่ในคุ้มหลวงก่อนหน้าแล้ว
ชายาสามองค์แรกนั้นไม่มีข้อกังขาถึงเรื่องเชื้อสายวงศ์ตระกูลที่สืบมาจากเจ้าผู้ครองนครลำพูน-เชียงใหม่องค์ก่อนๆ
ที่น่าสนใจคือกรณีของ “เจ้ายอดเรือน” ท่านสืบเชื้อสายมาจากสกุลใด ไยทายาทของชายาบางองค์จึงไม่ยอมรับให้รวมอยู่ในทำเนียบชายา?
เจ้าราชภาติกวงษ์
เชื้อสายเจ้าเชียงตุง
อันที่จริงเจ้าปู่ของเจ้ายอดเรือนนั้นเป็นถึง “เจ้าราชภาติวงษ์” ผู้มีนามเดิมว่า “เจ้าน้อยดวงทิพ ตุงคนาคร” อันเป็นนามสกุลพระราชทานของรัชกาลที่ 6 ที่สะท้อนถึงการสืบสายมาจากเจ้าเมืองเชียงตุง
เจ้าน้อยดวงทิพทำหน้าที่เสนาสรรพากร (พระยาวังซ้าย) คู่กับเจ้าหลวงจักรคำฯ ซึ่งทำหน้าที่เสนาคลัง (พระยาวังขวา) มาตั้งแต่ปี 2440 ในยุคเจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ 9 คือเจ้าหลวงอินยงยศโชติ (พระบิดาของเจ้าหลวงจักรคำฯ)
ตำแหน่ง “เจ้าราชภาติกวงษ์” มีความเป็นมาอย่างไร โดยธรรมเนียมแล้ว “เจ้านายฝ่ายเหนือ” ประกอบด้วย “เจ้า 5 ขัน” หรือ “เจ้าขันทั้งห้า” 1. เจ้าหลวง 2. เจ้าอุปราช 3. เจ้าราชวงศ์ 4. เจ้าบุรีรัตน์ 5. เจ้าราชบุตร ถือเป็นตำแหน่งสูงสุด เมื่ออภิเษกกับเจ้านายล้านนารวมถึงเจ้าเชียงตุงด้วยกัน ลูกที่เกิดมาย่อมเป็น “เจ้า”
หากพ่อเป็นเจ้า แม่เป็นไพร่ ลูกจะเป็นเจ้าไปทุกชั้น หากพ่อเป็นไพร่ แม่เป็นเจ้า ลูกจะไม่เป็นเจ้า ยกเว้นสายตรงเจ้าหลวงถ้าแม่เป็นธิดาเจ้าหลวงได้สวามีเป็นไพร่ ลูกก็เป็นเจ้า
ผู้พยายามหาเหตุผลว่าทำไมเจ้าจึงมีชายาและหม่อมหลายคน ด้วยคำอธิบายว่าสมัยก่อนไม่มีดารา มีก็แต่ ช่างซอ (ขับลำนำเพลง) หรือช่างฟ้อน ซึ่งส่วนมากเป็นคนนอกคุ้มหรือสามัญชน เมื่อเจ้าติดใจเหล่าช่างซอช่างฟ้อนนางใดขึ้นมาก็มักขอมาเป็นหม่อม ฝ่ายพ่อแม่มักยินดีเพราะถือว่าช่วยยกสถานะความเป็นอยู่ของวงศ์ตระกูลให้ดีขึ้น
นอกจากเจ้าขันทั้งห้าแล้ว สมัยรัชกาลที่ 4 ยังได้แต่งตั้งตำแหน่งขุนนางที่มีเชื้อสายเจ้าในระดับสูงเพิ่มมาอีกสามตำแหน่ง เป็นการสืบต่อโดยสายเลือด บ้างก็เลื่อนมาตามลำดับ ได้แก่ 1. เจ้าราชสัมพันธ์วงศ์ 2. เจ้าราชภาคินัย และ 3.เจ้าราชภาติกวงษ์ สำหรับเจ้าที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับภารราชกิจส่วนมากจะเป็นผู้หญิงก็จะอยู่ในตำแหน่งของ เจ้าวรญาติ และเจ้าประยูรญาติ
ตำแหน่ง “เจ้าราชภาติกวงษ์” เดิมก็คือ “พระยาวังซ้าย” นั่นเอง สมัยรัชกาลที่ 5 ทำหน้าที่เหมือน “เสนานา” ดูแลการขุดเหมืองฝายเกษตรกรรม
ส่วนเจ้าราชภาติกวงษ์ (เจ้าน้อยดวงทิพ) ผู้มีศักดิ์เป็นปู่ของเจ้ายอดเรือน มีเชื้อสายฝ่ายเจ้ายายทวดคือ “เจ้าแม่บัวคำ” ที่สืบสายมาจาก “เจ้าหลวงคำตัน” เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ 4 (เป็นโอรสของพระเจ้าบุญมาเมือง เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ 2)
ส่วนสายปู่ทวดคือเจ้าฟ้าสาม เจ้าผู้ครองนครเขมรัฐเชียงตุง ผู้สืบสายสกุลมาจาก “ท้าวน้ำท่วม” (เจ้านำถุม) โอรสองค์กลางของพระญาไชยสงคราม หรือหลานปู่ของพระญามังราย ปฐมกษัตริย์แห่งล้านนา ซึ่งถูกส่งไปปกครองเมืองเขมรัฐเชียงตุง เพื่อผูกสัมพันธ์และขยายวงศ์ในเขตรัฐฉาน ดังปรากฎชัดว่ารัชทายาทของเจ้าฟ้าเชียงตุงใช้นามสกุลว่า “มังราย” จวบจนปัจจุบัน
เจ้ายอดเรือนเกิดในปี 2446 เป็นธิดาของ เจ้าน้อยเวียงใจ๋ และเจ้าแว่นแก้ว แต่บิดา-มารดาเสียชีวิตตั้งแต่ท่านยังเล็ก ทำให้ภาระการอบรมเลี้ยงหลานทั้งสามคือ เจ้าหนานเมืองดี เจ้ายอดเรือน และเจ้าน้อยอินนนท์ จึงตกอยู่ในความดูแลของเจ้าราชภาติกวงษ์
การเดินไปคุ้มเจ้ายอดเรือน
คุ้มเจ้ายอดเรือน จะอยู่บนซอยรถแก้วจากหน้าพิพิธภัณฑ์ชุมชนเมืองลำพูนแล้วเลี้ยวซ้ายตรงสี่แยกซอยรถแก้ว เข้าซอยไป ประมาณ 300 เมตร คุ้มเจ้ายอดเรือนจะอยู่ฝั่งซ้ายมือ
ที่พัก
1.KhumJaoJomKaew Resort
คุ้มเจ้ายอดเฮือน • อยู่ห่างออกไป 60 เมตร
ที่พักราคาไม่แพง ดูแลแบบเหมือนอยู่บ้าน พี่ป้า น้าอา ไม่มีอาหารเช้า แต่มีขนมปังและชา กาแฟ พร้อมกล้วย บริการ ที่พักไม่ใหม่ แต่ทำเลดี อยู่หลังศาลากลางลำพูน เงียบ สงบ ไม่พลุกพล่าน ปลอดภัย ใกล้วัดพระธาตุหริภุญชัย เดินไปยังได้ ใกล้ตลาดเช้า ตลาดโต้รุ่ง อนุสาวรีย์เจ้าแม่จามเทวี ที่จอดรถก็มี พี่เจ้าของอัธยาศัยดี ใครชอบคุยเรื่องประวัติศาสตร์ล้านนา ลำพูน ลองคุยกับพี่เขาดูครับ รู้ลึก รู้จริง แนะนำแหล่งท่องเที่ยวได้แบบละเอียด เพราะพี่เขาเป็นคนที่นี่
ข้อมูลติดต่อและที่อยู่
4 แว่นคำ ถนน แว่นคำ ตำบล ในเมือง อำเภอเมืองลำพูน ลำพูน 51000
053 560 702
2.โรงแรมจามาเดวี
คุ้มเจ้ายอดเฮือน • อยู่ห่างออกไป 410 เมตร
โรงแรมใกล้วัดพระธาตุหริภุญชัย
เป็นโรงแรมเล็กที่ออกแบบตกแต่งสวยเหมือนโรงแรมขนาดใหญ่ มีห้องพักไม่มาก จุดเด่นของห้องพักคืออ่างอาบน้ำอยู่กลางห้อง
ส่วนล้อบบี้โรงแรมใช้เป็นพื้นที่เป็นส่วนเดียวกับร้านกาแฟ
ข้อมูลติดต่อและที่อยู่
ตำบล ในเมือง อำเภอเมืองลำพูน ลำพูน 51000
053 512 115
3.A day inn Lamphun
คุ้มเจ้ายอดเฮือน • อยู่ห่างออกไป 1.6 กม
โรงแรมเล็กๆ อยู่ในจังหวัดลำพูน ราคาประมาณ 600-700 บาท ตกแต่งแบบทันสมัยศิลปะปูนเปลือย ไม่มีอาหารเช้าแต่มีกาแฟขนมปัง ให้กินตลอดเวลา เป็นธุรกิจครอบครัวมีความอินดี้ อยู่ติดถนนใหญ่ มีที่จอดรถ
ข้อมูลติดต่อและที่อยู่
114, ตำบล เวียงยอง อำเภอเมืองลำพูน ลำพูน 51000
084 040 3685